[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Souza Samonji [แปลโดย taiki_taiki]

แปลโดย: @taiki_taiki [ฝากลง] 
แปลและเรียบเรียงจาก 
http://hanamiyass.tumblr.com/post/109521223092/souza-samonji

宗三左文字 Souza Samonji –

  • ที่มาของชื่อ โซวสะ ซามอนจิ : ซามอนจิ มาจากชื่อของช่างตีดาบ ส่วนโซวสะ มาจากชื่อเจ้าของดั้งเดิมคือ มิโยชิ มาซานากะ (หรือ โซวสะ นั่นเอง)
  • เคยอยู่ในครอบครองของ ทาเคดะ โนบุโทระ, อิมากาวะ โยชิโมโตะ (บางครั้งจึงเรียกโซวสะว่า โยชิโมโตะ ซามอนจิ), โอดะ โนบุนากะ, โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ, และโทคุกาวะ อิเอยาสึ
  • จากการที่เคยตกอยู่ในครอบครองของสามวีรบุรุษแห่งยุคเซนโกคุ ทำให้ได้ชื่อว่าเป็น “สัญลักษณ์ของผู้ครองแผ่นดิน” และถูกมองว่าเป็นถ้วยเกียรติยศหรือนกในกรงขัง มากกว่าจะเป็นดาบคู่ใจหรือเครื่องมือ
  • แม้จะยอมจำนนต่อโชคชะตา แต่โซวสะก็ยังคงใฝ่หาอิสระ
  • ตอนที่โนบุนากะได้ โซวสะ ซามอนจิ ไว้ในครอบครอง เขาก็ได้สลักชื่อตนเองลงบนตัวดาบ ชื่อของโนบุนากะจะเห็นได้จากตอนที่โซวสะใช้ท่าไม้ตาย และเรื่องนี้ดูจะกลายเป็นแผลในใจของโซวสะมาตลอด
  • ได้รับความเสียหายหนักจากเหตุไฟไหม้ครั้งใหญ่ปีเมอิเรคิ (ถือเป็นไฟไหม้ครั้งใหญ่สุดหนึ่งในสามของประวัติศาสตร์โลกถัดจากไฟไหม้กรุงโรม และไฟไหม้ที่ลอนดอน) ในยุคเอโดะ ทำให้เสียหายหนักจนต้องมีการตีซ่อมแซมใหม่อีกครั้ง จึงทำให้โซวสะกลัวไฟ
  • โซวสะมองว่าซานิวะคงจะต้องการตนเองเป็นรางวัลเกียรติยศเช่นเดียวกับเจ้านายคนก่อนๆ

โซวสะ ซามอนจิ ถูกส่งต่อผ่านมือเจ้านายหลายคน และมักจะเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์ทั้งสิ้น เขาถูกตีขึ้นโดยนายช่าง ซามอนจิ และเดิมเคยเป็นดาบในครอบครองของเซนโกคุไดเมียว มิโยชิ มาซานากะ ซึ่งเคยบวชเรียนจึงได้ชื่อทางธรรมว่า โซวสะ

หลังจากนั้น โซวสะ ก็ถูกมอบให้แก่ทาเคดะ โนบุโทระ (บิดาของพยัคแห่งคาอิ ทาเคดะ ชินเก็น) เพื่อเป็นของขวัญ จากนั้น โจเคอิน บุตรสาวของ โนบุโทระ แต่งงานเข้ากับ อิมากาวะ โยชิโมโตะ เพื่อเป็นการกระชับสัมพันธไมตรีระหว่างสองตระกูล โซวสะถึงถูกส่งไปพร้อมกับโจเคอินในฐานะสินสมรส หลังจากนั้นจึงได้ชื่อเล่นอีกชื่อว่า โยชิโมโตะ ซามอนจิ

กล่าวกันว่าโยชิโมโตะหลงภรรยาคนนี้มาก จึงนำโซวสะมาใช้ในฐานะดาบคู่กาย และโซวสะก็ได้ต่อสู้เคียงข้างเจ้านายจวบจนกระทั่งวาระสุดท้าย ในศึกยุทธการโอเคะฮาซามะ ซึ่งในขณะนั้นโยชิโมโตะนำทหารเรือนหมื่นบุกดินแดนโอวาริของโนบุนากะ ที่มีกำลังทหารเพียงหลักพัน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมเป็นใจ ประกอบกับชำนาญพื้นที่ โนบุนากะจึงลอบนำกำลังพลราวสองพันเดินทางหลบทัพอื่นๆของโยชิโมโตะจนมาถึงทัพหลัก และลอบจู่โจมตัดศีรษะโยชิโมโตะได้สำเร็จ

โซวสะถูกโนบุนากะชิงไป และความยาวของดาบลดเหลือเพียง 65.1 cm จาก 78.8 cm โนบุนากะสลักชื่อของตนและวันที่ชนะศึกลงไปบนตัวด้ามจับด้านในด้ามดาบ โดยมีใจความว่า

“ปีเอโรคุที่สาม เดือนเก้า วันที่ห้า ดาบเล่มนี้ตกเป็นของโอดะ โนบุนากะ ผู้พิชิตอิมากาวะ โยชิโมโตะ”

ทว่า ในเหตุการณ์เผาวัดฮนโนจิในปี 1582 ซึ่ง อาเคจิ มิสึฮิเดะ อดีตขุนพลมือฉมังของตระกูลโอดะทรยศ ตอนนั้นโนบุนากะเก็บโซวสะไว้ข้างกาย ซึ่งมีภรรยาน้อยของโนบุนากะอยู่ในเหตุการณ์นั้นด้วย พวกเขาแยกจากกันระหว่างเกิดเหตุครั้งนั้น ภรรยาน้อยของโนบุนากะนำโซวสะหนีไปได้และมอบให้กับบิดาของตนซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดที่อยู่ใกล้เคียง โนบุนากะกระทำการเซปปุกุในเหตุการณ์ครั้งนั้น

หลังจากนั้น ขุนพลผู้ภักดีต่อตระกูลโอดะ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (ขณะนั้นใช้นามสกุล ฮาชิบะ) ก็บังคับให้เจ้าอาวาสคืนโซวสะมาให้ตน เพื่อที่ตนจะได้นำไปใช้แก้แค้นให้แก่นาย ซึ่งทำให้โซวสะตกมาอยู่ในครอบครองของฮิเดโยชิ และฮิเดโยชิก็ได้กลายเป็นผู้พิชิตแผ่นดินคนที่สองในเวลาต่อมา

ฮิเดโยชิ เสียชีวิตในปี 1598 ทิ้งไว้เพียงทายาทอายุ 6 ปี (ฮิโรอิมารุ ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น ฮิเดโยริ) เพียงคนเดียวเท่านั้น หลังจากนั้นทำให้ขุนพลที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสภาอาวุโสของฮิเดโยชิลุกขึ้นมาแบ่งฝักฝ่ายห้ำหั่นกันแย่งชิงอำนาจ อิชิดะ มิสึนาริ อยู่ข้างทายาทของฮิเดโยชิ (ทัพตะวันตก) ส่วนอีกฝ่ายคืออิเอยาสึซึ่งอยากได้อำนาจเสียเอง (ทัพตะวันออก) หลังจากทั้งสองฝ่ายเข้ารบกันในศึกสมรภูมิทุ่งเซกิ ฝ่ายมิสึนาริก็แพ้อิเอยาสึ เนื่องจากถูกขุนพลคนหนึ่งของฝ่ายตนทรยศ อิเอยาสึขึ้นมาเป็นผู้พิชิตแผ่นดินคนที่สาม และได้เป็นเซอิไทโชกุนในเวลาต่อมา ตระกูลโทโยโทมิมอบโซวสะให้เป็นของขวัญเพื่อให้ยังไว้ชีวิตทายาทคนเดียวของตระกูล ดังนั้นโซวสะจึงตกมาเป็นสมบัติของตระกูลโทคุกวะ

ในช่วงยุคเอโดะ โซวสะถูกเพลิงเผาจนเสียหายหนักในเหตุการณ์ไฟไหม้ครั้งใหญ่ปีเมอิเรคิ จึงต้องถูกนำมาตีใหม่ ซึ่งจากการตีซ่อมแซมครั้งนี้ ลวดลายบนดาบที่ได้กลับไม่งดงามเท่าของเดิม กระนั้นก็ยังถือได้ว่าโซวสะรอดจากเงื้อมมือมัจจุราชอย่างหวุดหวิด จนกระทั่งจักรพรรดิเมจิ ต้องการสร้างศาลเจ้าอันเป็นที่ระลึกแก่วีรกรรมของโอดะ โนบุนากะ โซวสะจึงถูกนำมาบริจาคเป็นสมบัติเพื่อจัดแสดง และประจำอยู่ที่ศาลเจ้านับแต่นั้นเป็นต้นมา

Leave a comment