[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Kashuu Kiyomitsu

แปลจาก: http://yue-ciel.tumblr.com/post/112602400571/kashuu-kiyomitsu

“ข้าคือคะชูคิโยมิทสึ เด็กที่มาจากทางต้นน้ำ เรียกว่าบุตรแห่งริมฝั่งน้ำก็คงได้ ข้าอาจใช้งานยากสักหน่อย แต่ความสามารถของข้ายอดเยี่ยมนะ ข้าน่ะ ไม่ปิดกั้นที่จะเต็มใจรับใครสักคนหากจะใช้ข้าด้วยความรักและทำให้ข้าสวยกว่าเก่าหลังจากนั้นล่ะ”

คะชูคิโยมิทสึถูกตีขึ้นในสมันเอโดะ ศตวรรษที่ 17 และมีนามเดียวกับช่างตีของตัวเอง (ในที่นี่จะเรียกว่าคิโยมิทสึ) คิโยมิทสึเป็นผู้มีฝีมือในการตีดาบแต่ต้องผจญมรสุมความยากจนในชีวิตและยากจะหาเลี้ยงตัวเองได้ เขาอาศัยอยู่ในสลัมของพวกฮิจิน (非人) ที่ริมฝั่งน้ำ พวกฮิจินเป็นพวกบุราคุมินคือกลุ่มที่สังคมไม่ยอมรับที่อยู่ชั้นล่างสุดของระบบสังคมในเอโดะ เนื่องจากพวกเขาประกอบอาชีพ “ไม่สะอาด” เช่น ฆ่าสัตว์ ฟอกหนัง และให้ความความบันเทิง คนเหล่านี้ต้องตกระกำลำบากจากการถูกแบ่งแยกอย่างรุนแรง และถูกจับมารวมกันให้ใช้ชีวิตอยู่ในชุมชนแร้นแค้นที่ห่างจากส่วนอื่นของสังคมที่เหลือ พวกฮิจินไม่ได้รับอนุญาตให้ทำงานในนา ดังนั้นพวกเขาจึงอาศัยอยู่ที่ริมฝั่งน้ำที่ไม่เหมาะกับการทำเกษตรกรรม พวกเขาจึงได้ชื่อว่า เหล่าผู้คนริมฝั่งน้ำ (河原者) และนี่เอง คือสิ่งที่คะชูพูดถึงตอนที่เขาบอกว่าตัวเองเป็นบุตรแห่งริมฝั่งน้ำ คะชูเกิดในสังคมที่ยากจนและไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมเอโดะ ดังนั้นเขาจึงใช้ความระมัดระวังอย่างมากในการตกแต่งตัวเองให้สวยงามและนำเสนอตัวเองในฐานะสิ่งสวยงามปราณีต เพื่อที่เจ้านายของเขาจะได้มอบความรักให้และเขาจะไม่ต้องคิดถึงเรื่องความยากจนในที่ที่ตัวเขาจากมา

เจ้านายที่มีชื่อเสียงที่สุดของคะชูคือโอคิตะ โซจิแห่งกลุ่มชินเซ็นในยุคบาคามัทสึ (1853-1867) โอคิตะเป็นอัจฉริยะในเรื่องการใช้ดาบ คะชูและยาสึซาดะเป็นดาบที่ใช้งานได้ยาก แต่เมื่ออยู่ในมือของโอคิตะพวกเขาสามารถเปล่งประกายความสามารถที่แท้จริงออกมาได้ โอคิตะเป็นทั้งที่มาของความภาคภูมิใจและความเป็นคู่แข่งระหว่างดาบทั้งสอง ยาสึซาดะมีความภักดีต่อโอคิตะมากกว่า ในขณะที่คะชูเองยินยอมทั้งหัวใจที่จะรับใครก็ได้ที่จะรักเขามาเป็นนาย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจจะมาจากภูมิหลังที่แตกต่างของดาบทั้งสอง ยาสึซาดะไม่ได้เกิดในชุมชนที่สังคมไม่ยอมรับเช่นเดียวกับคะชูผู้ซึ่งต้องต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งส่วนเสี้ยวของความรัก หากพาพวกเขาไปที่ร้านค้า ยาสึซาดะจะออกความเห็นว่าคะชูคงสนุกน่าดูถ้าได้ไปที่นั่น และคะชูเองก็จะมีความสุขมากหากซานิวะพาเขาไปที่ร้านค้า

โอคิตะนำคะชูเข้าประจัญบานในเหตุกบฎที่อิเคดะยะ (1864) ที่ซึ่งกลุ่มชินเซ็นเข้าต่อสู้กับกลุ่มติดอาวุธของผู้ต่อต้านระบอบโชกุนโทคุกาวะ นั่นคือกลุ่มโจอิชิชิ ว่ากันว่าปลายดาบของคะชูหักระหว่างการปะทะและไม่สามารถซ่อมได้ ทำให้โอคิตะต้องตัดใจทิ้งไป นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมคะชูจึงรู้สึกไม่มั่นคงเวลาที่เขาบาดเจ็บ เพราะเขากลัวว่าเขาจะไม่เป็นที่ต้องการหากตัวเองกลายเป็นอะไรที่งดงามน้อยกว่าภาพลักษณ์ปกติและสภาพที่ดีเยี่ยม

One thought on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Kashuu Kiyomitsu

Leave a comment