[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Kogitsunemaru

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword, pp.118-123. Norderstedt: Book on Demand GmbH.

เรื่องต่อไปนี้เป็นเรื่องที่มาจากละครโนะเรื่อง “โคคาจิ” แม้ว่าตำนานอันโด่งดังเกี่ยวกับช่างตีดาบมุเนะจิกะจะเป็นที่รู้จักกันมาหลายศตวรรษ แต่ก็ไม่ปรากฎว่าละครโนะเรื่องนี้ใครเป็นผู้แต่งและถูกแต่งขึ้นในสมัยใด บันทึกที่เก่าแก่ที่สุดของละครเรื่องนี้ย้อนกลับไปถึงเดือนสอง ปีเทนโชที่หก (1578) จัดทำโดยคอนโกดะยู และแสดงที่อิชิยามะฮงกันจิ (จังหวัดเซทสึ) ซึ่งถูกโอดะ โนบุนากะทำลายไปในสองปีถัดมา แต่สันนิษฐานกันว่าตำนานมุเนะจิกะกับสุนัขจิ้งจอกได้ถูกนำมาแสดงเป็นละครโนะแล้วในยุคมุโรมาจิ ในส่วนของตำนาน เรื่องราวเกิดขึ้นในสมัยจักรพรรดิอิจิโจ (980-1011 ครองราชย์ 986-1011) จักรพรรดิอิจิโจเกิดสุบินประหลาดที่บอกให้ตีดาบเล่มหนึ่งขึ้น วันต่อมาจักรพรรดิจึงส่งทาจิบานะ โนะ มิจินาริเป็นตัวแทนส่งข่าวไปยังโรงตีดาบของมุเนะจิกะซึ่งทางตะวันออกของเกียวโต ที่ถนนใหญ่ตัดขวางสายที่สาม (ซันโจ) มิจินาริลงจากรถเทียมวัวและกล่าวว่า “ท่านคือช่างตีดาบมุเนะจิกะใช่หรือไม่ องค์จักรพรรดิได้เลือกให้ท่านเป็นผู้ตีดาบเล่มหนึ่งให้ ท่านจงเริ่มทำงานเสียบัดนี้เถิด” “ข้ารู้สึกเป็นเกียรติที่ได้รับมอบหมายงานสำคัญเช่นนี้ แต่บัดนี้ข้าหาได้มีผู้ช่วยที่จะตีดาบที่ดีพอสำหรับองค์จักรพรรดิได้” “หากนั่นเป็นเรื่องจริง ท่านก็จงหาผู้ช่วยของท่านเสียสิ!” มิจินาริเอ่ยอย่างเกรี้ยวกราดและจากไป

เพื่อหลีกเลี่ยงเรื่องเลวร้ายที่จะตามมาหากองค์จักรพรรดิไม่พอใจ มุเนะจิกะจึงตรงไปยังศาลเจ้าฟุชิมิอินาริ ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของฟุชิมิ ห่างจากโรงตีดาบของเขาไปเพียงสิบกิโลเมตร เพื่อสวดมนต์ขอให้เทพเจ้าช่วยเหลือ เป็นเพลาพลบค่ำแล้วตอนที่เขาก้าวยาวๆผ่านซุ้มประตูสีแดงมันวับของศาลเจ้า เมื่อเด็กชายคนหนึ่งปรากฎตัวขึ้นในแสงสลัว เจ้าคือโคคาจิ มุเนะจิกะจากซันโจใช่หรือไม่” “เจ้ารู้จักนามของข้าได้อย่างไร ข้าไม่เคยพบเจ้ามาก่อน” แต่เด็กชายไม่ตอบคำถาม เพียงแต่เอ่ยต่อไป “เจ้ามาเพราะได้รับคำสั่งหลวงให้ตีดาบให้องค์จักรพรรดิใช่หรือไม่” ช่างตีดาบได้แต่จ้องมองเด็กชายประหลาดคนนั้นด้วยความสับสน แต่แล้วก็คุกเข่าลง “ใช่ เป็นเรื่องจริง แต่ข้าไม่มีผู้ช่วยที่จำเป็นสำหรับงานนี้เลย” “ข้าเข้าใจดีถึงสิ่งที่เจ้ากังวล ข้าจะช่วยเจ้าเอง หลังจากที่ทำความสะอาดและชำระโรงตีดาบให้เป็นที่บริสุทธิ์ตามข้อบัญญติแบบเก่าแล้ว ข้าจะไปที่นั่นเพื่อเป็นผู้ช่วยของเจ้า” เด็กชายกล่าวและหายตัวไปไวเหมือนที่ปรากฎตัวมา

เช้าวันต่อมา มุเนะจิกะตระเตรียมทุกอย่างสำหรับงาน เข้าพิธีชำระร่างกายและสวมชุดสีขาวเหมือนพระในนิกายชินโต ชำระล้างสถานที่ตีดาบด้วยทั่งตีเหล็กที่ตรงหน้าเตาหลอม โดยพันทั่งด้วยเชือกชิเมนาวะที่มีโกะเฮย์ (กระดาษยันต์สีขาว) ห้อยเอาไว้ หลังจากสวดมนต์ขอให้เทพเจ้าช่วยเหลือแล้ว เด็กชายก็ปรากฎตัวออกมาจากหลังเตาหลอม เงียบราวสุนัขจิ้งจอก และมุเนะจิกะก็ตระหนักว่านี่คงเป็นอินาริเมียวจิน เทพแห่งความอุดมสมบูรณ์ ข้าว และเกษตรกรรมซึ่งผู้นำสารมักปรากฎกายในร่างของจิ้งจอกขาว ด้วยความนอบน้อม ช่างตีดาบคุกเข่าลงบนพื้น “เจ้าขอความเชื่อเหลือและข้าจะช่วยเจ้า” เทพอินาริเอ่ยด้วยน้ำเสียงอันภูมิฐาน เปลวไฟลุกไหม้ในเตาหลอม และทั้งสองก็เริ่มทำการหลอมและตีเหล็ก ทว่าเด็กชายหาได้เหมือนผู้ช่วยที่เป็นมนุษย์ทั่วไปไม่ ไม่ต้องเอ่ยปากบอกอะไร เด็กชายก็รู้ว่าเมื่อไหร่ ที่ไหน และด้วยแรงมากเพียงไรที่จำเป็นต้องใช้ในการช่วยตีค้อนลงไปแต่ละครั้ง ดาบที่ได้เป็นผลงานชิ้นเยี่ยม มุเนะจิกะลงนามที่ด้านหน้าของดาบเล่มนั้น “โคคาจิ มุเนะจิกะ” และด้วยความสำนึกในบุญคุณของเทพอินาริ จึงได้สลัก “โคกิตสึเนะ” ซึ่งแปลว่า “จิ้งจอกน้อย” เพิ่มเข้าไปที่ด้านหลัง ทว่าทันทีที่เขาสลักลายเซ็นเสร็จ เด็กชายก็หายไป วันต่อไปมุเนะจิกะส่งดาบให้กับมิจินาริอย่างภาคภูมิใจ โดยดาบมีนามว่า “โคกิตสึเนะมารุ”

เป็นอันจบสำหรับเรื่องทฤษฎีหรืออันที่จริงคือเรื่องละครโนะ ไม่ทราบแน่ชัดว่าจักรพรรดิอิจิโจมีส่วนจริงๆในตำนานนี้เพียงมด แต่เพราะมุเนะจิกะทำงานในช่วงปีเอเอ็น (987-989) อย่างน้อยลำดับเวลาก็ถูกต้อง บันทึกที่อายุมากที่สุดเกี่ยวกับโคกิตสึเนะมารุย้อนกลับไปถึงสมัยเฮอันตอนปลาย และตอนนั้นโคกิตสึเนะมารุก็เป็นดาบสมบัติของตระกูลขุนนางคุโจแล้ว ในบันทึกของตระกูลกล่าวว่า ฟุจิวาระ โนะ คาเนะนากะ (1138-1158) เคยประดับดาบเครื่องทรงด้วยเล่มนี้ ในวันที่ 28 ของเดือนสิบสองของปีนินเปย์ที่สาม (1153) ในงานพิธีรับตำแหน่งชูนากงอย่างเป็นทางการ คาเนนากะเป็นทายาทของฟุจิวาระ โนะ โยรินากะ (1120-1156) และลูกชายคนที่สองของโยรินากะ ฟุจิวาระ โนะ โมโรนากะ (1138-1192) เองก็ประดับเครื่องทรงด้วยดาบเล่มนี้ตอนที่สืบทอดตำแหน่งชูนากงในเวลาไม่นานหลักจากนั้น คือวันที่ 25 ของเดือนสิบเอ็ด ปีคิวจูที่หนึ่ง (1154)

สองปีที่มา ในปีโฮเก็นที่หนึ่ง (1156) เกิดเหตุกบฎโฮเก็น (โฮเก็นโนะรัน) ที่เป็นชื่อเดียวกันขึ้น ว่าด้วยปัญหาการสืบราชสมบัติและอำนาจบริหารภายในของตระกูลฟุจิวาระซึ่งได้กลายมาเป็นตระกูลผู้สำเร็จราชการแทนจักรพรรดิ (คันปาคุ) ในสมัยเฮอัน ว่ากันว่าชินเซย์* (1106?-1160) บุตรของฟุจิวาระ โนะ ซาเนะคาเนะ (1085-1160) เป็นเจ้าของโคกิตสึเนะมารุในตอนนั้น ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าดาบเปลี่ยนมือจากตระกูลคุโจมายังชินเซย์และกลับไปที่ตระกูลคุโจ**ได้อย่างไร เพราะในบันทึกอีกบันทึกของตระกูลคุโจ ในวันที่ 15 เดือนแปะของปีโออันที่สาม (1370) ได้กล่าวไว้ว่าดาบได้กลับมาเป็นของตระกูลคุโจอีกครั้ง บันทึกนี้กล่าวว่าเคหาสน์คุโจถูกฟ้าผ่า และเมื่อผู้สำเร็จราชการ คุโจ ทสึเนโนริ (1331-1400) ชักโคกิตสึเนะมารุออกมาชูขึ้นฟ้าเพื่อไล่พายุ เขาเองกลับถูกฟ้าฟาดโดยสายฟ้าผ่าลงผ่านปลายดาบ หากเรื่องนี้เป็นจริง ดาบเองก็คงจะถูกทำลายหรืออย่างน้อยก็ได้รับความเสียหายอย่างหนักในตอนนั้นด้วยเช่นกัน

กระแสข่าวหนึ่งว่ากันว่าต่อมาโคกิตสึเนะมารุมาอยู่ที่จังหวัดเอจิเซ็น แม้แต่โชกุนโทคุกาวะที่แปด โยชิมุเนะ (1684-1751) ก็เชื่อข่าวนี้อย่างจริงจัง เพราะมีเอกสารของโคเสะ ชิเงยูคิ (1659-1720) สมาชิกของบาฟุคุในสมัยนั้น ที่กล่าวว่าโยชิมุเนะเคยสืบหาดาบเล่มดังกล่าวที่คาสุงาเมียวจินจะในอะวะงะที่จังหวัดเอจิเซ็น ทราบจากคำตอบจากศาลเจ้าว่าที่ศาลเจ้ามีดาบเล่มหนึ่งยาว 61.2 cm ที่มีลายเซ็นสองตัว “มุเนะจิกะ” ที่ส่วนชิราซายะ (ปลอกและตัวด้ามที่ทำจากไม้) ของดาบมีคำสลัก “โคกิตสึเนะมารุคาเงะ” ทว่าเอกสารที่เก่ากว่ากล่าวว่าตัวดาบอยู่ในเครื่องทรง (โคชิราเอะ) ฝังมุกล้ำค่า

ที่น่าหงุดหงิดใจยิ่งกว่าคือคำว่า “คาเงะ” ที่เพิ่มเข้ามาซึ่งหมายถึงสิ่งที่เรียกกันว่า “คาเงะอุจิ” คาเงะอุจิคือดาบเล่มที่สองที่บางครั้งช่างตีก็ตีขึ้นในเวลาเดียวกันที่ทำดาบเล่มจริงสำหรับลูกค้า หลังจากขัดเงาในตอนท้าย ช่างจะเลือกว่าดาบเล่มไหนมีคุณภาพดีกว่า ดาบเล่มที่ด้อยกว่าจะถูกช่างเก็บเอาไว้และไม่ได้รับการสลักนาม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเชื่อยากที่ว่ามุเนะจิกะจะสลักนามสองตัวของตัวเองลงไป และคาเงะอุจิจากสมัยเฮอันจะถูกนำมาเก็บไว้อย่างดีในฐานะของศักดิ์สิทธิ์ในศาลเจ้าในสมัยเอโดะตอนกลาง

เรื่องราวยังชวนสับสนกว่าเก่าเมื่อพบว่ามีศาลเจ้าหลายแห่งมีดาบที่ชื่อ “โคกิตสึเนะมารุ” เหมือนกัน ตัวอย่างเช่น ที่ฮาจิมันกูในโคฟุ (จังหวัดยามานาชิ) แต่ดาบโคกิตสึเนะมารุเล่มนั้นมีความยาว 90.9 cm เป็นโอดาจิซึ่งผิดกับความนิยมของจักรพรรดิและขุนนางในสมัยเฮอันที่ชอบดาบที่มีขนาดสั้นกว่ามากและมีใบดาบบาง บันทึกการครอบครองดาบของอิโซโนะคามิจินกู***อันเก่าแก่ในจังหวัดนารากล่าวถึงดาบชื่อ “โคกิตสึเนะมารุ” ที่ควรจะถูกเก็บเอาไว้ในหีบที่ถูกผนึก ทว่าศาลเจ้าไม่อนุญาตให้ทำการตรวจสอบสมบัติ ข้อสงสัยนี้จึงไม่ได้รับการพิสูจน์

เรื่องเล่าเกี่ยวกับดาบในเวลาต่อมาที่เกี่ยวข้องกับตระกูลคุโจย้อนกลับไปในสมัยโมโมยามะ เมื่อโทโยโทมิ ฮิเดโยชิหวังจะก้าวหน้าโดยใช้ชื่อฟุจิวาระ ฮิเดโยชิติดต่อขุนนางและเสนาบดี (ไดโจ-ไดจิน) โคโนเอะ ซาคิฮิสะ (1536-1612) และขอให้มีการรับตนเป็นบุตรบุญธรรม แต่คุโจ ทาเนมิจิ (1507-1594) ทำการคัดค้านอย่างแข็งขัน โดยอ้างว่าสมบัติตระกูลฟุจิวาระสามอย่างคือ รูปวาดของคามาทาริ (ผู้ก่อตั้งตระกูลฟุจิวานะ) สัทธรรมปุณฑรีกสูตรของพระเทนไกชั้นสูงเออโย และดาบโคกิตสึเนะมารุยังเป็นสมบัติของตระกูลคุโจ ทำให้ตระกูลโคโนเอะเป็นตระกูลสาขาที่ด้อยกว่าและไม่สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะรับฮิเดโยชิเป็นลูกบุญธรรมหรือไม่ อย่างไรก็ดี การคัดค้านของทาเนมิจิไม่ได้มีผลอันใด และฮิเดโยชิก็ได้เป็นลูกบุญธรรมของซาคิฮิสะในปีเทนโชที่สิบสาม (1585)

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีผู้ใดทราบชัดเจนว่าดาบโคกิตสึเนะมารุอยู่ที่ใดมาจนถึงปัจจุบัน

*ชินเซย์เป็นนามในระหว่างเป็นพระ ชื่อเดิมคือ ฟุจิวาระ โนะ มิจิโนริ
**โยรินากะเป็นลุงของคุโจ คาเนะซาเนะ (1149-1207) ผู้ก่อตั้งตระกูลสาขาคุโจของตระกูลฟุจิวาระ
***ศาลเจ้าแหงนี้เก็บดาบศักดิ์สิทธิ์ฟุทสึโนะมิทามะ โนะ ทสึรุกิที่ว่ากันว่าสุซาโนะโอะ โนะ มิโคโตะเคยใช้ฆ่างูเก้าหัวยามาโตะ โนะ โอโรจิเอาไว้

2 thoughts on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Kogitsunemaru

Leave a comment