[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Heshikiri Hasebe

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword, pp.136-139. Norderstedt: Book on Demand GmbH.

ช่างตีดาบฮาเซเบะ คุนิชิเงะทำงานในช่วงปีเคนมุ (1334-1338) มีพื้นเพเดิมอยู่ที่จังหวัดยามาโตะ แต่ได้ไปคามาคุระเพื่อร่ำเรียนวิชาจากชินโตโก คุนิมิทสึและมาซามุเนะ และได้กลายเป็น “หนึ่งในสิบศิษย์แห่งมาซามุเนะ” จากนั้นจึงมาตั้งถิ่นฐานในอิโนะคุมะที่เกียวโจ ดาบที่มีชื่อเสียงและเป็นผลงานเอกของเขาคือ “เฮชิคิริ ฮาเซเบะ” ดาบที่ครั้งหนึ่งโอดะ โนบุนากะเคยโปรดปรานที่สุด เรื่องเล่ามีอยู่ว่า วันหนึ่ง คันไน เด็กรับใช้ชงชาของโอดะพูดจาลามปามใส่ โนบุนากะโกรธจะฆ่าคันไนทิ้ง คันไนพยายามหนีจนกระทั่งได้ไปหลบอยู่ใต้ตู้ โนบุนากะชักดาบออกและฟันทะลุตู้นั้นโดยไม่แม้แต่จะเงื้อแขน เพียงแต่ใช้น้ำหนัก (เฮชิ) ของดาบเท่านั้น จากนั้นมา ดาบจึงมีชื่อเรียกว่า “เฮชิคิริ ฮาเซเบะ” ซึ่งแปลว่า เครื่องตัดทรงพลังฮาเซเบะ

จากบันทึก “เคียวโฮเมย์บุทสึโช” ดาบจากโอดะ โนบุนากะไปอยู่กับฮิเดโยชิ และตกถึงมือคุโรดะ นากามาสะ (1568-1623) ในภายหลัง หากแต่ข้อมูลที่บันทึกเอาไว้ไม่ถูกต้อง ในบันทึกเหตุการณ์ของตระกูลคุโรดะ พบว่าโนบุนากะเคยจองจำผู้ทรยศนามอาราคิ มุราชิเงะ (1535-1586) เอาไว้ในปีเทนโชที่เจ็ด (1579) และเข้าใจผิดว่าพ่อของนากามาสะ คุโรดะ โยชิตากะ (1546-1586) มีส่วนเกี่ยวข้องจึงได้จับนากามาสะ (ในตอนนั้นมีนามว่าคินจิเบย์) เป็นตัวประกัน และสั่งประหาร แต่ความเข้าใจผิดถูกแก้ไข และนากามาสะก็พ้นจากโทษอย่างหวุดหวิด เพื่อชดเชยในความเข้าใจผิด โนบุนากะจึงได้มอบ เฮชิคิริ ฮาเซเบะให้กับคุโรดะ โยชิตากะ ซึ่งแปลว่าฮิเดโยชิหาได้มีส่วนเกี่ยวข้องดังที่ “เคียวโฮเมย์บุทสึโช” ได้บันทึกไว้

ดาบเล่มนี้ต่อมาถูกทำให้สั้นลงและมีลงสลักทองของฮงอามิ โคโทคุ (1553-1619) ซึ่งอ่านได้ว่า “ฮาเซเบะ คุนิชิเงะ โฮนะ [คาโอ] = คุโรดะ จิคุเซ็น โนะ คามิ” ซึ่งแปลว่าลายสลักทอง (คินโซกันเมย์) นี้ถูกเพิ่มเข้าไปหลังจากสงครามเซคิงาฮาระ เนื่องจากก่อนหน้านั้นโยชิตากะมีสมญาว่า “ไค โนะ คามิ”

รูปที่ 1: สมบัติชาติญี่ปุ่น (โคคุโฮ) เฮชิคิริ ฮาเซเบะ ใบดาบยาว 64.8 cm (ดูรูปขนาดเต็มคลิกที่รูป)

FullSizeRender_1

เครื่องทรงของเฮชิคิริ ฮาเซเบะเองก็เป็นที่น่าจดจำ สองส่วนสามของฝักดาบ (ส่วนซายะ) ในช่วงล่างถูกหุ้มด้วยหนังกระเบียนปุ่มเลี่ยมทอง (ซาเมะ) ที่เรียบเสมอกัน ซึ่งเรียกว่า “คิน-อะราเระ” (ลูกเห็บทอง) ช่วงด้ามดาบหุ้มด้วยหนังชนิดเดียวกันทาสีแดงมันวาวและหุ้มด้วยหนังสีน้ำตาลอีกทีหนึ่ง ส่วนกลมที่ปลายด้ามจับ (คาชิระ) ทำจากทองและมีลายสลักของคลื่น ส่วนทสึบะ เป็นงานโลหะของช่างที่มีชื่อเสียงที่สุดผู้หนึ่ง นามโนบุอิเอะ และมีลายเซ็นของเจ้าตัว และส่วนฟุจิมีลายเซ็นของอิจิโจไซ โมริ มิทสึโนริ ซึ่งทำงานในสมัยบุนกะ (1804-1818) และบุนเซย์ (1818-1830) ซึ่งเป็นระยะเวลาทั้งหมดที่เขาทำเครื่องทรงให้กับดาบเล่มนี้

เป็นที่น่าสนใจว่า เครื่องทรง (โคชิราเอะ) นี้เป็นการลอกเลียนแบบดาบอีกเล่มของคุโรดะ โยชิตากะ (รูปที่ 2) คือดาบ “อะตาคิคิริ) ซึ่งโยชิตากะใช้ฆ่าอะตาคิ ทาคายาสึ (?-1581) ในศึกที่ฮิเดโยชิบุกปราสาทยูระบนเกาะอะวาจิ ในปีเทนโชที่เก้า (1581) ตัวดาบไม่ใช่ผลงานชิ้นเอกก็จริง แต่ก็เป็นผลงานของบิเซ็น สุเคะซาดะที่ได้ผลิตดาบเป็นจำนวนมาก (เรียกกันว่า “คะสึอุจิโมโนะ”) ระหว่างยุคเซ็งโกคุอันวุ่นวายสับสน ซึ่งแปลว่าอะตาคิคิริเป็นเพียงดาบสำหรับการศึกของโยชิตากะ ส่วนเครื่องทรงอันงดงามเพิ่งถูกนำมาสวมใส่ให้เพื่อเป็นการฉลองชัยชนะ ที่เครื่องทรงถูกทำขึ้นในภายหลังเองก็มีหลักฐานชัดเจนโดยลายเซ็นที่ส่วนฮาบาคิ “โคบัน เมียวจู” ซึ่งเป็นชื่อของช่างตีดาบและช่างทำทสึบะผู้มีชื่อเสียงนาม อุเมะทาดะ เมียวจู (1558-1631) ซึ่งตอนนั้นใช้เพียงชื่อ “เมียวจู” ตั้งแต่ปีเคย์โชที่สาม (1598) ก่อนจะถูกเรียกว่า “มุเนะโยชิ” สำหรับอะตาคิคิริ ทั้งตัวดาบและเครื่องทรงได้รับการยกย่องเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม (จูโยบุนคาไซ) ปัจจุบันทั้งอะตาคิคิริและเฮชิคิริ ฮาเซเบะถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองฟุคุโอกะ

รูปที่ 2: บน อะตาคิคิริ ล่าง เฮชิคิริ ฮาเซเบะ ยกเว้นส่วนทสึบะ เครื่องทรงดาบทั้งสองเล่มแทบจะเหมือนกันหมด (ดูรูปขนาดเต็มคลิกที่รูป)

FullSizeRender

Leave a comment