[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Nagasone & Hachisuka & Urashima Kotetsu [แปลโดย taiki_taiki]

นางาโซเนะโคเท็ตสึ

“ราตรีนี้โคเท็ตสึช่างคมดีจริง” นี่คือประโยคปิดฉากการสู้รบของ คอนโด อิซามิ ผู้นำแห่งชินเซ็นกุมิผู้มีบทบาทสำคัญในช่วงบาคุมัตสึ ซึ่งสามารถเปิดโปงแผนการของกลุ่มกบฏคืนอำนาจสู่จักรพรรดิ และทำให้ชื่อเสียงของชินเซ็นกุมิเป็นที่เลื่องลือไปทั่วจากการปราบกบฏที่อิเคดายะ ซึ่งดาบที่ใช้ในครั้งนั้นคือนางาโซเนะโคเท็ตสึนั่นเอง แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่าดาบเล่มนี้ของคอนโดจะใช่โคเท็ตสึจริงหรือไม่

นางาโซเนะโคเท็ตสึเป็นผลงานของช่างดาบแห่งเอจิเซ็น ซึ่งดาบของโคเท็ตสึนั้นขึ้นชื่อในเรื่องของการเป็นดาบชั้นเลิศในหมู่ดาบชั้นสูง ในสมัยนั้น การจะทดสอบความคมของดาบจะใช้การนำศพมนุษย์มาวางซ้อนกันเพื่อซ้อมฟัน ซึ่งนางาโซเนะโคเท็ตสึสามารถฟันศพที่วางซ้อนกันสองศพจนขาดสะบั้นลงได้ ด้วยความคมนี้เองที่ทำให้โคเท็ตสึกลายเป็นดาบเลื่องชื่อภายในระยะเวลาอันสั้น ด้วยเหตุนี้เองจึงมีดาบโคเท็ตสึปลอมจำนวนมาก นักวิเคราะห์เองก็มองว่า “เทียบกับโคเท็ตสึแล้วก็คงเรียกได้ว่าเป็นของปลอม” ดังนั้นโคเท็ตสึจึงได้เปลี่ยนลายเซ็นหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากเป็นของล้ำค่าที่ไม่อาจหามาครอบครองได้ง่ายๆ ข้อถกเถียงที่ว่าคอนโดซึ่งเป็นเพียงเจ้าสำนักดาบธรรมดาๆคนหนึ่งที่ไม่น่าจะหาดาบเลื่องชื่อมาครอบครองได้นั้นเป็นเรื่องที่เข้าใจได้

มีตำนานเล่าความถึงที่มาของดาบแตกต่างกันออกไป ตำนานหนึ่งเล่าว่า ขณะที่คอนโดจะเดินทางไปยังเกียวโตก็เรียกเจ้าของร้านขายดาบมาหาแล้วบอกว่าอยากได้ดาบโคเท็ตสึ เจ้าของร้านขายดาบหาเท่าไหร่ก็ไม่พบโคเท็ตสึ จึงนำดาบที่มีลายเซ็นของ มินาโมโตะ คิโยมาโระ ซึ่งได้รับความนิยมมากในยุคนั้นมาเปลี่ยนลายเซ็นเสียใหม่แล้วขายให้คอนโดโดยไม่บอกความจริง อีกตำนานหนึ่งเล่าว่าได้รับดาบมาจาก โค โนะ อิเคะ พ่อค้าผู้มั่งคั่งแห่งเมืองโอซาก้า และบางตำนานก็เล่าว่าได้รับมาจากหัวหน้าหน่วยคนหนึ่งในชินเซ็นกุมิที่ชื่อ ไซโต ฮาจิเมะ อีกทั้งช่างซ่อมดาบที่เสียหายให้เหล่าหัวหน้าหน่วยภายหลังเหตุการณ์อิเคดายะนามเกนริวไซ โทชินากะ ยังได้บันทึกเอาไว้ว่า “ดาบของอาจารย์คอนโดเป็นดาบชั้นเลิศ แต่ก็เป็นของปลอม”

ถึงอย่างนั้น ดูเหมือนว่าตัวคอนโดเองจะเชื่อมั่นว่าดาบของตนเป็นโคเท็ตสึแท้แน่นอน และแม้จะผ่านศึกอันดุเดือดจากเหตุการณ์กบฏอิเคดายะ ดาบของคอนโดกลับไม่มีแม้แต่รอยหักหรือบิ่น คอนโดเขียนเล่าเรื่องนี้ในจดหมายที่ส่งถึงบิดาบุญธรรมของตนว่า “อาจเป็นเพราะดาบของผู้น้อยคือโคเท็ตสึ จึงทำให้กลับมาได้อย่างปลอดภัย”

ฮาจิสึกะโคเท็ตสึ

โคเท็ตสึคือชื่อทางธรรมของ นากาโซเนะ โอคิซาโตะ และบุคคลผู้นี้คือช่างตีดาบที่รังสรรค์ผลงานอยู่ในช่วงเอโดะยุคกลาง ยังมีข้อถกเถียงเรื่องถิ่นกำเนิดของเขา แต่ส่วนใหญ่สันนิษฐานว่าถิ่นกำเนิดน่าจะเป็นแคว้นโอมิหรือไม่ก็เอจิเซ็น ทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าเขาน่าจะเคยอาศัยอยู่ที่แคว้นโอมิ และในช่วงวัยเด็กประมาณปีเคโจที่ 5 (1600) ได้หนีภัยสงครามทุ่งเซกิไปยังแคว้นเอจิเซ็น ขณะที่อาศัยอยู่ที่แคว้นเอจิเซ็นเขาเคยเป็นช่างทำเกราะมาก่อน ทว่าในปีเคโจที่ 20 (1615) ภายหลังเหตุการณ์การบุกยึดปราสาทโอซาก้าสงครามก็ได้สิ้นสุดลงเสียที ในระหว่างปีคัมบุน (1660) จึงได้ย้ายไปยังนครเอโดะและเปลี่ยนอาชีพเป็นช่างตีดาบ แม้ความต้องการดาบจะลดน้อยลงเช่นเดียวกับความต้องการเกราะหลังสิ้นสุดยุคสงคราม แต่ประเพณีการพกดาบในหมู่นักรบก็ยังคงอยู่

ด้วยเหตุนี้ โคเท็ตสึจึงได้เริ่มตีดาบเมื่ออายุล่วงเลยวัย 50 ปีไปแล้ว แต่ยิ่งอายุมากเท่าไหร่พรสวรรค์และความเชี่ยวชาญก็ยิ่งโดดเด่นมากเท่านั้น นอกจากการค้นคว้าและทดลองจริง ความสามารถพิเศษเมื่อสมัยยังเป็นช่างทำเกราะทำให้เขาสามารถรังสรรค์ดาบสั้นอันทรงคุณค่าและมีความวิจิตรงดงามจนเป็นที่ยอมรับของผู้คน แต่ก็ทำให้เกิดของเลียนแบบจำนวนมากตามมาด้วย

แม้โคเท็ตสึส่วนใหญ่จะเป็นของปลอม แต่ก็มีของจริงอยู่แม้จะมีเพียงจำนวนน้อยนิด หนึ่งในนั้นก็คือฮาจิสึกะโคเท็ตสึซึ่งตกทอดในตระกูลฮาจิสึกะอันเป็นตระกูลผู้ครองแคว้นโทคุชิมะ ปัจจุบันเป็นสมบัติส่วนบุคคลซึ่งถูกเก็บรักษาอย่างมิดชิดโดยมิให้ออกสู่สายตาสาธารณชน แต่ว่ากันว่าเป็นอุจิคาตานะซึ่งมีฝักดาบเป็นชุบทองคำ ในสมัยยุครณรัฐ ฮาจิสึกะ โคโรคุ แห่งตระกูลฮาจิสึกะเคยรับใช้โทโยโทมิ ฮิเดโยชิมาก่อน และด้วยความบากบั่นทำให้เป็นที่พึงพอใจของฮิเดโยชิ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นไดเมียวแห่งแคว้นอาวะ

ด้วยความที่ฮิเดโยชิเป็นผู้ที่นิยมชมชอบความหรูหราฟู่ฟ่า ดังนั้นนอกจากดาบแล้วยังสะสมอุปกรณ์ชงชาทองคำเอาไว้มากมาย ดังนั้นตระกูลฮาจิสึกะซึ่งรับใช้นายอย่างฮิเดโยชิก็อาจจะทำตามแบบอย่างนายตนก็เป็นได้

ยังไม่มีคำอธิบายที่แน่ชัดว่าฮาจิสึกะโคเท็ตสึมาอยู่ที่ตระกูลฮาจิสึกะได้อย่างไร และเหตุใดจึงหายไปจากคลังสมบัติของตระกูล ทราบเพียงว่าดาบทะจิ ฮาจิสึกะมาสะสึเนะ ซึ่งเป็นสมบัติชาติ และเป็นดาบประจำตระกูลฮาจิสึกะถูกนำมาขายทอดตลาดในช่วงต้นยุคโชวะ ช่วงยุคเมจิ ตระกูลฮาจิสึกะซึ่งนอกจากดาบแล้วยังครอบครองสมบัติจำพวกภาพเขียนและม้วนภาพเอาไว้ด้วยนั้น เริ่มมีความมั่งคั่งทัดเทียมกับตระกูลโทคุกาวะสายมิโตะ แต่เนื่องจากการบุกเบิกธุรกิจที่ฮอกไกโดประสบความล้มเหลวจึงทำให้ตกอับ และอาจจะทำให้ต้องนำดาบโคเท็ตสึมาขายทอดตลาดด้วยนั่นเอง

อุราชิมะโคเท็ตสึ

สิ่งที่ถูกแกะสลักลงบนตัวดาบซึ่งส่องประกายวาววับคือรูปจำลองของอุราชิมะทาโร่ซึ่งกลายเป็นที่มาของชื่อ ดาบเล่มนี้กำเนิดขึ้นด้วยฝีมือของนายช่างโคเท็ตสึในยุคเอโดะ โคเท็ตสึถือกำเนิดในแคว้นโอมิ และทำอาชีพเป็นช่างทำเกราะในช่วงแรก ทว่าเมื่ออายุล่วงเลยวัย 50 ปีก็ย้ายถิ่นฐานมายังนครเอโดะ และเปลี่ยนสัมมาชีพเป็นช่างตีดาบ ซ้ำยังเป็นบุคคลที่แปลกด้วยนำชื่อตอนออกบวชมาใช้ ดาบที่เป็นผลงานของโคเท็ตสึนั้นไม่เพียงมีความวิจิตรงดงาม หากยังมีความคมยิ่งอีกด้วย ซ้ำยังมีชื่อเสียงมากเสียจนหัวหน้าชินเซ็นกุมิ คอนโด อิซามิ ยังใฝ่ฝันว่าอยากได้ดาบของโคเท็ตสึมาครอบครอง

ดาบอุราชิมะโคเท็ตสึเล่มนี้อยู่ในครอบครองของตระกูลอิเคดะซึ่งเป็นผู้ครองแคว้นชิมะโทริ กล่าวกันว่าที่ตัวดาบซึ่งส่องแสงแวววาวด้วยฝีมือการตีของช่างเอกเช่นโคเท็ตสึมีภาพสลักอันงดงามของอุราชิมะทาโร่ตามจินตนาการสลักเอาไว้อยู่

One thought on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Nagasone & Hachisuka & Urashima Kotetsu [แปลโดย taiki_taiki]

Leave a comment