[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Nakigitsune

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword, pp.76-77. Norderstedt: Book on Demand GmbH.

ดาบที่มีชื่อเสียงอีกเล่มที่ตีโดยคุนิโยชิคือ นาคิกิตสึเนะ ซึ่งแปลตรงตัวว่า จิ้งจอกหอน (รูปที่ 1) ดาบเล่มนี้เป็นดาบที่มีค่ายิ่งเนื่องจากมีลายเซ็นที่สมบูรณ์ครบถ้วนของคุนิโยชิ รวมถึงสมญากิตติมศักดิ์ (ซาเฮโนะโจ ดังรูปที่ 2) นอกจากนี้ ดาบเล่มนี้ยังเป็นชิ้นส่วนสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการลำดับการพัฒนา “อุจิกาตานะ” อุจิกาตานะเป็นดาบที่สั้นกว่าทาจิ ในช่วงแรกเริ่มที่มีดาบประเภทนี้เกิดขึ้น อุจิกาตานะเป็นดาบที่ทหารชั้นล่างพกพากัน ในขณะที่พวกนักรบชั้นสูงบนหลังม้ายังใช้ธนูเป็นหลักในการต่อสู้ในสนามรบ ส่วนดาบที่ใช้จะยังใช้ดาบทาจิร่วมกับโคชิกาตานะ ซึ่งอย่างหลังเอาไว้ใช้ป้องกันตัวและต่อสู้ในระยะประชิด หรือเมื่อมีเวลาเพียงพอสำหรับการทำเซปปุกุ

โคชิกาตานะนั้นถูกพกพาแม้แต่ในช่วงเวลาที่สงบสุข โดยจะสอดไว้กับสายรัดของเครื่องแต่งกาย และเมื่อเวลาผ่านไป ขนาดของโคชิกาตานะก็เริ่มยาวขึ้น พูดง่ายๆก็คือ อุจิกาตานะ ได้ถูกรับเอามาเป็นดาบหลักที่นักรบชั้นสูงเองก็พกพาในฐานะดาบหลัก ตั้งแต่ช่วงกลางจนถึงปลายยุคมุโรมาจิ อุจิกาตานะจะถูกพกคู่กับวากิซาชิที่สั้นกว่า เรียกกันว่าคู่ดาบ “ไดโช” (ใหญ่เล็ก) มีทฤษฎีหลายทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาดังกล่าวในแนวคิดที่ว่าดาบประเภทใดพัฒนามาจากดาบประเภทใด นาคิกิตสึเนะ คุนิโยชิจึงเป็นดาบที่น่าสนใจ เพราะแสดงให้เห็นว่าในช่วงปลายยุคคามาคุระ นักรบชั้นสูงได้มีการสั่งทำดาบที่สั้นกว่าทาจิและยาวกว่าโคชิกาตานะแล้ว เนื่องจากมีเพียงนักรบชั้นสูงเท่านั้นที่จะมีทรัพย์สินและฐานะเพียงพอที่จะสั่งดาบที่ตีโดยช่างระดับคุนิโยชิได้

นาคิกิตสึเนะ คุนิโยชิถูกส่งต่อกันมาในตระกูลอะคิโมโตะ ไดเมียวแห่งทาเทบายาชิในจังหวัดโคสึเกะ รุ่นแรกของตระกูลที่ได้ดูแลผืนดินศักดินาทาเทบายาชิคือ อะคิโมโตะ นากาโตโมะ (1546-1628) บริวารของตระกูลอุเอสึกิ ทว่าไม่มีบันทึกเอาไว้ว่าดาบนาคิกิตสึเนะมาอยู่ที่ตระกูลดังกล่าวตั้งแต่เมื่อใด

รูปที่ 1: สมบัติทางวัฒนธรรม นาคิกิตสึเนะ ลายเซ็น “ซาเฮโนะโจ ฟุจิวาระ คุนิโยชิ” ใบดาบยาว 54.1cm

Screen Shot 2558-05-29 at 10.16.47 PM

รูปที่ 2: รูปลายเซ็นคุนิโยชิอย่างละเอียด

Screen Shot 2558-05-29 at 10.17.00 PM

Leave a comment