[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Nikkari Aoe

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword, pp.90-95. Norderstedt: Book on Demand GmbH.

เดิมดาบนิคคาริ อาโอเอะอันโด่งดังมีความยาว ~75.8 cm แต่ได้ถูกทำให้สั้นลงจนเหลือเพียง 60.3 cm ดังในปัจจุบัน ซึ่งทำให้ดาบดังกล่าวเป็น โอวาคิซาชิ (วาคิซาชิขนาดใหญ่) บนส่วนโคนดาบ มีนามสลักด้วยทองของเจ้าของเดิม แต่ส่วนหนึ่งของนามนี้หายไปเนื่องจากความยาวที่สั้นลง ชื่อส่วนที่เหลืออ่านได้ว่า “ฮาชิบะ โกโรซาเอมอน โนะ โจ นากะ” ซึ่ง “ฮาชิบะ” เป็นสกุลเดิมของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิเมื่อครั้งยังเป็นผู้ติดตามของโอดะ โนบุนากะ ชื่อ “ฮาชิบะ” อันที่จริงมาจากการผสมตัวอักษรของขุนพลผู้โด่งดังสองคนของโนบุนากะ คือนิวะ นากาฮิเดะ (1535-1585) และชิบาตะ คัทสึอิเอะ (1522-1583) ซึ่งตัวอักษร “wa” กับ “shiba” รวมกันอ่านได้ว่า “ฮาชิบะ” นี่ไม่ใช่เพียงความชาญฉลาดในการเล่นคำของฮิเดโยชิ แต่ยังเป็นกุศโลบายเพื่อไมตรีจิตอันดีของสองขุนพลผู้มีอำนาจมากในช่วงนั้นอีกด้วย แต่หากเป็นเช่นนั้น ชื่อ “ฮาชิบะ โกโรซาเอมอน โนะ โจ นากะ” หมายถึงใคร ทราบมาว่า ชื่อสามัญของนิวะ นากาฮิเดะคือ โกโรซาเอมอน แต่ทว่านามสกุลฮาชิบะไม่น่าจะเป็นชื่อของเขา เนื่องด้วยตัวเขาเองเป็นที่มาของนามสกุลดังกล่าวนั้น จึงมาถึงบุตรชายคนโตและผู้สืบทอดของเขา นิวะ นากาชิเงะ (1571-1637) ที่นอกจากได้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าตระกูลแล้ว ยังได้รับชื่อของผู้เป็นบิดามาอีกด้วย ในปีเทนโชที่สิบห้า (1587) นากาชิเงะเข้าร่วมกับฮิเดโยชิในศึกกับคิวชู แต่ถูกทำโทษเนื่องจากแสดงความประพฤติไม่เหมาะสมกับผู้ติดตามของฮิเดโยชิ ในเวลานั้น บทลงโทษดังกล่าวได้แก่การถูกย้ายไปสังกัดศักดินาที่ได้รับรายได้น้อยกว่าเก่า จากจำนวนมหาศาลถึง 1,230,000 โคคุจากจังหวัดเอจิเซ็น วาคาสะ และคางะของผู้เป็นบิดา เหลือเพียง 40,000 โคคุจากที่ดินเขตมัตโต (จังหวัดอิชิคาวะในปัจจุบัน)

ทว่า ฮิเดโยชิอาจใช้การลงโทษครั้งนี้เป็นข้ออ้างในการลดอำนาจของตระกูลนิวะ ห้าปีต่อมา นากาชิเงะเข้าร่วมศึกบุกเกาหลีในฐานะผู้ติดตามของฮาชิบะ “ฮาชิบะจิจู” ในนาม “ฮาชิบะมัตโตจิจู” (ผู้ติดตามของฮาชิบะจากมัตโต) ดังนั้นนามสลักทองบนดาบตามเดิมแล้วอาจสลักเอาไว้ว่า “ฮาจิบะ โกโรซาเอมอน โนะ โจ นากาชิเงะ โชจิ” (เป็นสมบัติของฮาชิบะ โกโรซาเอมอน โนะ โจ* นากาชิเงะ)

ส่วนข้อสันนิษฐานของการที่ความยาวของดาบหายไปนั้น อาจสันนิษฐานได้สองแบบคือ หนึ่ง นากาชิเงะได้สลักนามของตัวเองหลังจากได้รับดาบมาจากบิดา และสอง ดาบถูกทำให้สั้นลงอยู่ก่อนแล้วตอนที่เขาได้รับมา นั่นหมายความว่า มีความเป็นไปได้ว่าตัวนากาชิเงะเองเป็นคนสั่งให้ทำดาบนั้นสั้นลง ไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม อาจเป็นเพราะเกิดความเสียหายใกล้กับช่วงฐาน จากนั้นจึงค่อยสลักนามของตัวเองลงไปบนโคนดาบ ส่วนเหตุที่ดาบถูกทำให้สั้นกว่าเดิมในคราที่สอง เช่น ความยาวที่โคนหายไปสองสามเซนติเมตรหลังตัวอักษร “นากะ” ไม่เป็นที่ปรากฎแน่ชัด ข้อสันนิษฐานอย่างง่ายที่สุดคือตัวดาบถูกทำให้สั้นลงจนได้ขนาดตามที่ต้องการโดยไม่สนใจว่าอะไรจะถูกสลักเอาไว้บนช่วงโคนดาบ ซึ่งการทำแบบนี้เป็นเรื่องปกติพอๆกับการเจาะรูซึ่งบางครั้งไม่ได้กระทำการกันอย่างระมัดระวังนัก และมักทำให้ลายเซ็นที่สลักไว้เดิมเสียหาย

อีกสาเหตุของความยาวที่หายไปอาจเกิดจากที่ว่าดาบได้ตกถึงมือของพ่อค้าผู้มั่งคั่งผู้หนึ่ง เนื่องจากผู้อื่นนอกจากนักรบชั้นสูงไม่ได้รับอนุญาตให้พกพาดาบยาวกว่า 60.6 cm ส่วนมากแล้วข้อจำกัดนี้จึงมักถูกผลักดันกันจนถึงมิลลิเมตรสุดท้าย (พูดง่ายๆคือ หากได้ห้ามพกพาดาบยาว 60.6 cm หากพก 60.5 cm ได้ก็เอานั่นเอง) โดยกลุ่มพวกพ่อค้าวาณิชที่ร่ำรวยเพื่อแสดงให้เห็นสถานะการเงินและวัฒนธรรมตามอย่างพวกนักรบชั้นสูง โดยการพกพาดาบและสวมเครื่องแต่งกายอย่างเจ้ายศ แต่นี่เป็นเพียงข้อสันนิษฐานทางทฤษฎี เนื่องจากตัวดาบนิคคาริ อาโอเอะมีประวัติว่าอยู่ในตระกูลเคียวโกคุมาโดยตลอด

ข้อสันนิษฐานที่สามเกี่ยวกับความยาวดาบที่หายไปจนถึงตัวอักษร “นากะ” ว่ากันว่า เพราะเจ้าของพยายามจะลบชื่อของนากาชิเงะออก เพื่อที่จะได้อ้างถึงเจ้าของคนก่อนที่ไม่ใช่นากาชิเงะแทน เหตุจากนากาชิเงะเคยถูกลงโทษเรื่องข้อระเบียบวินัยดังเรื่องที่ได้กล่าวมาแล้ว และยังได้เข้าร่วมกับอิชิดะ มิทสึนาริในสงครามเซคิงาฮาระ และมีจุดจบเป็นโรนินผู้ยากไร้ อันที่จริง สามปีหลังสงครามเซคิงาฮาระ นากาชิเงะได้รับศักดินารายได้ 10,000 โคคุ และหลังจากเข้าร่วมศึกกับโอซาก้าข้างโทคุกาวะ ก็ได้รับชื่อเสียงกลับมาอีกครั้ง แต่หากเทียบกับความมั่งคั่งสมัยบิดา ชีวิตการงานของเขานับว่าเป็นความล้มเหลวในหมู่คนรุ่นเดียวกัน

อย่างไรก็ดี สำหรับชื่อ “นิคคาริ อาโอเอะ” มีที่มาจากสามตำนานที่แตกต่างกัน เรื่องแรกเป็นเรื่องที่บันทึกไว้ใน “เคียวโฮเมย์บุทสึโช” ช่วงต้นยุคอะสึจิโมโมยามะ (1568-1600) ในเขตกาโม จังหวัดโอมิ มีข่าวลือว่ามีปีศาจออกอาละวาดในเขตภูเขาฮาจิมัน ทำให้นาคาจิมะ ชูริดะยุผู้เป็นเจ้าของที่ดินในแถบนั้นถูกกดดันให้หาทางจัดการกับปีศาจ ดังนั้นเขา (หรือบางบันทึกก็กล่าวว่าเป็นน้องชายของเขา คุริดะยุ) ต้องเดินทางไปยังเขตที่เกิดปัญหาดังกล่าว โดยได้พกพาดาบที่คมที่สุดที่มี ซึ่งตีโดยสำนักอาโอเอะจากจังหวัดบิทจูไปด้วย ผืนป่าดูจะหนาแน่นขึ้นทุกทีๆเมื่อรัตติกาลมาเยือน และจู่ๆนากาจิมะก็ได้พบกับสตรีนางหนึ่งซึ่งอุ้มลูกน้อยเอาไว้ในอ้อมแขน หญิงสาวให้ลูกน้อยนั่งบนพื้นและเอ่ยถามพร้อมกับรอยยิ้มน่าขนลุกว่าชายหนุ่มจะอุ้มลูกน้อยของนางได้หรือไม่ ตอนที่เด็กคลานมาหา นากาจิมะบังเกิดความคิดขึ้นในหัว “หญิงสาวกับลูกน้อยที่ปรากฎตัวขึ้นในป่าลึกเพลานี้ช่างแปลกประหลาด ปีศาจจะต้องมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเป็นแน่” นากาจิมะจึงชักดาบออกและฟันเด็กน้อยเสีย สตรีนางนั้นหัวเราะเย็นเยือก พลางสาวเท้าเข้าใกล้ “เช่นนั้นก็จงโอบกอดข้าแทนเสียสิ!” ทว่า นากาจิมะเพียงแต่ผลักนางออก และตัดร่างของนางในดาบเดียว ร่างของสตรีและเด็กเมื่อถูกคมดาบก็พากันอันตรธานหายไป วันต่อมา นากาจิมะพยายามเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และได้ย้อนกลับไปยังที่เกิดเหตุในคืนก่อน โดยคาดว่าศพของทั้งสองน่าจะยังอยู่ที่นั่น ทว่ากลับพบแต่เพียงตะเกียงหินที่ปกคลุมไปด้วบหญ้ามอสคู่หนึ่งตั้งอยู่ ส่วนบนของตะเกียงทั้งสองตกอยู่ที่พื้นและมีรอยตัดอย่างปราณีต “นั่นคือปีศาจงั้นรึ” นากาจิมะกล่าวกับตัวเองและเดินทางกลับบ้าน และยังได้ตั้งชื่อให้กับดาบของตัวเองว่า “นิคคาริ อาโอเอะ” ซึ่งนิคคารินี้ ปกติมักออกเสียงว่า “นิคโคริ” มีความหมายว่า “ยิ้ม”

เรื่องที่สองมาจาก “จูซันคิดัน” ซึ่งเป็นเกร็ดประวัติย่อยรวบรวมโดยบัณฑิตขงจื้อนามยูอาสะ โจซัน (1708-1781) ตัวเอกของเรื่องคือผู้ติดตามคนหนึ่งของอาซาโนะ นากามาสะ (1547-1611) ซึ่งเป็นผู้ติดตามของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิอีกที นากามาสะได้รับมอบให้ดูแลที่ดินเขตโคงะและคุริตะ ในจังหวัดโอมิเนื่องจากการรับใช้อย่างซื่อสตัย์อันยาวนานและความสำเร็จทางการทหาร ผลผลิตข้าวของที่ดินให้รายได้ถึง 20,300 โคคุ วันหนึ่งระหว่างที่ข้ารับใช้ผู้นี้เดินทางจากโคงะไปยังจังหวัดทางตะวันออกเฉียงใต้ของอิเสะและต้องผ่านทิวเขาซึสึกะ เขาต้องรีบเร่งเพราะเป็นเวลาใกล้มืด ที่นากาจิมะ จู่ๆเขาก็ได้พบกับสตรีอ่อนวัยนางหนึ่ง ด้วยความสงสัย เขาหยุดฝีเท้าลงและทักทายนาง หากแต่นางกลับยิ้มให้ด้วยรอยยิ้มที่น่าสะพรึง เขาจึงชักดาบออกและฟันร่างของนางเสีย เกิดเสียงฉับดังและหัวของนางก็ตกลงบนพื้น วันต่อมาเขากลับไปยังที่เกิดเหตุ แต่กลับพบแต่เพียงรูปปั้นหินเทพจิโซซึ่งมักพบเห็นได้ตามข้างทางทั่วไป ส่วนศรีษะของรูปปั้นตกอยู่ที่พิ้น ดังนั้นเขาจึงตั้งชื่อให้กับดาบของตัวเองว่า “นิคคาริ อาโอเอะ”

เรื่องที่สามมาจากบันทึกของตระกูลเคียวโกคุ ว่าด้วยขุนพลท่านหนึ่งนามว่า โคมะ ทังโกะ โนะ คามิ ผู้บัญชาการของกองทหารที่สิบ (จูบันโซนาเอะ) แห่งตระกูลซาซากิ คืนหนึ่ง ระหว่างทางไปเขตกาโมในจังหวัดโอมิ ใกล้กับหมู่บ้านโจโคจิ โคมะได้พบกับสตรีนางหนึ่ง เพราะเธอกำลังยิ้ม โคมะจึงเดินเข้าไปหา ทว่านางกลับกลายเป็นปีศาจจำแลงกาย ดังนั้นโคมะจึงชักดาบออกและฆ่านางเสียในดาบเดียว แน่นอนว่า หลังจากนั้น ดาบก็ได้ชื่อว่า “นิคคาริ อาโอเอะ”

กลับมาสู่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ โอดะ โนบุนากะได้มอบหมายให้ชิบาตะ คัทสึอิเอะป้องกันปราสาทโจโคจิในปีเกนคิที่หนึ่ง (1570) เนื่องจากรคคาคุ โยชิตากะต้องการทวงปราสาทคืนจากโนบุนากะ ระหว่างการปิดล้อมปราสาท ตาน้ำที่ใช้งานได้เพียงแห่งเดียวเกิดเหือดแห้ง และมีน้ำเหลือพอเพียงแค่สามไห คัทสึอิเอะจึงสั่งให้ผู้คนดื่มน้ำทั้งหมดราวกับจะไม่มีวันพรุ่งนี้และทุบไหเสีย เมื่อถูกกระตุ้นด้วยพฤติกรรมเยี่ยงซามูไรของผู้เป็นนาย ผู้คนของคัทสึอิเอะก็รบจนคว้าเอาชัยขนะมาได้ และขับไล่พวกรคคาคุที่บุกมาออกไป หลังจากนั้น ที่ภูเจาโชโคจิ ที่ซึ่งปราสาทเคยตั้งอยู่ ก็ถูกเรียกว่า “คาเมวาริยามะ” (เขาทุบไห)

คัทสึอิเอะได้เป็นเจ้าปราสาทโชโคจิอย่างเป็นทางการ และเมื่อเขาได้ยินเรื่องดาบในตำนาน “นิคคาริ อาโอเอะ” ที่อยู่ที่ใดสักแห่งในท้องถิ่นละแวกปราสาท ก็สั่งให้คนเข้าค้นหาและนำดาบมา เขามอบดาบให้กับคัทสึโทชิ (1568?-1583) บุตรชาย ทว่าคัทสึโทชิไม่มีโชคกับดาบ เมื่ออายุได้สิบห้า** เขาเข้าร่วมศึกชิสึกาตาเคะ ในปีเทนโชที่สิบเอ็ด (1583) ฝ่ายชิบาตะพ่ายแพ้และเมื่อบิดาของเขากระทำการเซปปุกุ ผู้ติดตามคนอื่นก็เสนอให้เขาหนีเสีย ทว่าคัทสึโทชิยืนยันที่จะอยู่ เขาถูกจับได้และถูกประหารโดยนิวะ นากาฮิเดะ

นี่อาจจะเป็นเหตุที่ทำให้ดาบ “นิคคาริ อาโอเอะ” ได้มาอยู่กับนากาฮิเดะ ต่อมาดาบได้ตกเป็นสมบัติของฮิเดโชิ ซึ่งพอรู้เรื่องเกี่ยวกับดาบ ก็ได้สั่งให้ทำกล่องสำหรับเก็บดาบแบบพิเศษให้กับดาบเล่มนี้ ในบันทึกของโฮนามิ โคโตคุในช่วงเวลานั้นกล่าวว่า ตอนนั้นดาบมีความยาวเพียง 60.3 cm และอักษรบนโคนดาบหลังจากอักษร “นากะ” ก็ได้หายไปแล้ว

ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ข้อสันนิษฐานที่ว่าพ่อค้าผู้มั่งคั่งได้ทำการลดความยาวของดาบลงเป็นเพียงเรื่องทางทฤษฎี ทว่าก็ยังคู่ควรแก่การนำมาเป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาว่าตัวดาบอาจผ่านการถูกตีใหม่ให้ความยาวลดลงในลักษณะดังกล่าวมาก่อน บุตรของฮิเดโยชิ ฮิเดโยริได้ทำเครื่องทรงสองแบบเอาไว้สำหรับดาบนิคคาริ อาโอเอะ ส่วนที่ดาบมาอยู่ที่ตระกูลเคียวโกคุได้อย่างไรหาได้มีผู้ใดทราบ แต่เป็นไปได้มากว่าดาบนิคคาริ อาโอเอะเป็นของขวัญที่ฮิเดโยชิได้มอบให้กับเคียวโกคุ ทากาคัทสึ (1563-1609) ในปี 1940 ทายาทของทากาคัทสึ เคียวโกคุ ทาคานากะ ได้ขออนุมัติสถานะดาบนิคคาริ อาโอเอะ เป็น “ศิลปะชิ้นสำคัญ” ระดับจูโย บิจุทสึฮิน หลังจากสงครามโลกครั้งที่สอง ดาบตกเป็นของอาโอนุมะ มิทสึโอะ แต่ในปี 1997 ได้ถูกเมืองมารุกาเมะ (จังหวัดคางาวะในชิโกกุ) ซื้อไป เนื่องจากพวกเคียวโกคุเคยเป็นเจ้าที่ดินศักดินามารุกาเมะมาก่อน หลังจากนั้น ดาบนิคคาริ อาโอเอะก็ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในคลังสมบัติเมืองมารุกาเมะ

*โจ คร้ังหนึ่งเคยเป็นตำแหน่งตัวแทนราชองครักษ์ ต่อมา หลังยุคมุโรมาจิเป็นต้นมา ตำแหน่งนี้เป็นเพียงตำแหน่งกิตติมศักดิ์
**มีหลายทฤษฎีเกี่ยวกับอายุของคัทสึโทชิ ทำให้อายุของเขาในสงครามดังกล่าวอาจอยู่ระหว่าง 14-16 ปี

Leave a comment