[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Higekiri & Hizamaru

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword, pp.17-25. Norderstedt: Book on Demand GmbH.

ในบทนี้จะขอกล่าวถึงสถานการณ์ยุ่งยากอย่างหนึ่งในการศึกษาเรื่องที่มาและตำนานเกี่ยวกับดาบ ว่าด้วยการเปลี่ยนชื่อ การจำลองดาบซ้ำ และดาบที่มีชื่อเหมือนกันบางเล่ม เรื่องเล่าหนึ่งเริ่มจากมินาโมโตะ โนะ มิทสึนากะ (912-997) ผู้ซึ่งชื่อต้นอาจอ่านได้ว่า “มันจู” เช่นเดียวกับโยริมิทสึ มิทสึนากะกำลังตามหาดาบที่ควรค่าแต่ทว่าก็ไม่พอใจกับช่างตีที่ถูกแนะนำเข้ามาเสียที ดังนั้นเขาจึงให้คนของคนไปเชิญช่างมาจากแผ่นดินใหญ่ ในตำนานเฮย์เคะสมัยคามาคุระเล่าถึง ช่างเหล็กจากเมืองจีนที่อาศัยอยู่ในสถานที่ที่เรียกว่าเดยามะ ในเขตมิคาสะ จังหวัดจิคุเซ็น ช่างผู้ไม่ถูกเอ่ยนามนี้ตีดามหลายเล่ม แต่ก็ไม่มีเล่มใดที่ถูกใตมิทสึนากะ เขาจึงถูกปลด ด้วยความผิดหวัง แต่ยังมั่นใจว่าตนสามารถทำงานนี้ได้แน่ เขาจึงได้ภาวนาต่อเทพฮาจิมันซึ่งท่านก็ได้ยินเขาและได้มอบเหล็กสำหรับตีดาบสองเล่มให้ หลายเดือนต่อมา เขาก็สามารถส่งมอบดาบสองเล่มนี้ให้กับมิทสึนากะได้

อีกตำนานกล่าวว่าจักรพรรดิญี่ปุ่นได้แบ่งหอกจีนราชวงศ์ถัง (618-907) ความยาวสองเมตรครึ่งออกเป็นสองส่วนเท่าๆกัน และสั่งให้ช่างสองนายคือโมฟุสะจากจังหวัดทางเหนือ (โอชู) และโคคาจิ มุเนะจิกะจากเกียวโตทำดาบมาคนละเล่ม ปัญหาคือโมฟุสะตีดาบออกมายาว 3 ชาคุ (~90.0 cm) แต่มุเนะจิกะดาบยาวเพียง 2 ชาคุ 7 ซุน (~81.8 cm) จักรพรรดิรู้สึกว่าตนถูกโกงไป 3 ซุนจึงได้ให้จับกุมมุเนะจิกะ

เมื่อได้ดาบมาสองเล่ม พระองค์ได้พระราชทานนาม “มาคุระกามิ” สำหรับงาน “ซื่อสัตย์” ของโมฟุสะ และนาม “ซุนนาชิ” (ซุนหายหรือไม่มีซุน) สำหรับงานของมุเนะจิกะ ในคุก มุเนะจิกะภาวนาหาความยุติธรรมและสัญญาณที่จะบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ใจของตน ดาบซุนนาชิจึงได้ชักตัวเองออกจากฝักและตัด 3 ซุนออกจากมาคุระกามิ ด้วยความประทับใจอย่างสุดซึ้ง องค์จักรพรรดิจึงพระราชทานอภัยโทษแก่มุเนะจิกะ และเปลี่ยนนามซุนนาชิให้เป็น “โทโมคิริ” (ตัดได้เท่าเทียม [คำนี้แปลจาก equal cutter ในภาษาอังกฤษ ตรงนี้มีคนทักว่าในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ตัดสหาย” ค่ะ – ขอบคุณคุณ chibitare]))

หลังจากองค์จักรพรรดิ ต่อมาดาบได้ตกถึงมือของมิทสึนากะซึ่งได้ทำการทดสอบความคมของดาบทั้งสองเล่ม โทโมคิริสามารถบั่นคอผู้กระทำผิดกฎหมายได้อย่างว่องไวจนหนวดของชายผู้นั้นถูกตัดสะบั้นไปด้วย มิทสึนากะจึงเรียกดายนี้ว่า “ฮิเงะคิริ” (ดาบตัดหนวด) ส่วนมาคุระกามิตัดผ่านจากคอลงไปถึงเข่า จึงได้เรียกว่า “ฮิสะมารุ*” (ดาบตัดเข่า*) มิทสึนากะมอบดาบทั้งสองให้ลูกชาย โยริมิทสึ ซึ่งเป็นผู้เดียวกับโยริมิทสึในเรื่องโดจิกิริ ยาสุสึนะ โยริมิทสึได้มอบดาบฮิเงะคิริให้ขุนพลของตน วาตานาเบะ โนะ สึนะ อีกต่อหนึ่ง

เหตุการณ์ที่จะเล่าต่อไปนี้เกิดก่อนการไปสังหารชูเทนโดจิ เมื่อลูกน้องของชูเทนโดจิ ปีศาจอิบาราคิโดจิ ได้สร้างความหวาดกลัวในเขตทางใต้ของประตูราโชมอน ทางเข้าเกียวโต มีการถกเถียงกันในหมู่ขุนพลชิเทนโนของโยริมิทสึว่าเรื่องเกี่ยวกับอิบาราคิโดจิเป็นจริงหรือไม่ และโยริมิทสึอยากให้เรื่องโต้เถียงนี้จบลง เขาจึงให้เครื่องรางนำโชคกับสึนะ ให้เขานำไปทิ้งไว้ที่ประตูราโชมอน หากสึนะมั่นใจว่าปีศาจไม่มีจริง เขาก็น่าจะสามารถไปที่นั่นและวางเครื่องรางอันเป็นหลักฐานว่าได้ไปที่นั่นมาแล้วได้ สึนะตกลง และออกไปโดยลำพัง เมื่อไปถึงประตูราโชมอน ม้าของสึนะก็เกิดกลัว ทำให้ช่วงหลายเมตรสุดท้ายเขาต้องเดินไปด้วยตัวเอง เมื่อไปถึงประตู เขาทำการแขวนเครื่องราง ทว่ากลับพบว่าปีศาจได้ห้อยรอเขาอยู่บนเพดานก่อนแล้ว อิบาราคิโดจิกระโจนจากเพดานเข้าคว้าหมวกเกราะของสึนะ ทว่าสึนะหลบได้และตัดแขนของมันขาดด้วยดาบ เขาได้นำเอาแขนของอิบาราคิโดจิกลับไปให้โยริมิทสึและคนอื่นๆเป็นหลักฐาน จากเหตุการณ์ดังกล่าว ดาบจึงได้ถูกตั้งชื่อใหม่ว่า “โอนิคิริ” (ดาบตัดมาร)

จากนั้น สึนะได้ผนึกแขนของปีศาจเอาไว้ในกล่องและซ่อนเอาไว้ในบ้านตัวเอง วันหนึ่งมีคนมาเคาะประตูบ้าน พบว่าเป็นป้าบุญธรรมของสึนะเอง เขาให้นางเข้ามาอาศัยในบ้าน ทว่าหลังจากนั้น นางเริ่มเซ้าซี้ถามเรื่องกล่องกับแขน สึนะปฏิเสธที่จะให้ดูแขนของปีศาจ แต่หลังจากถกเถียงกันยกใหญ่ ด้วยมรรยาท เขาจึงยอมตกลงและเปิดหีบ ทันใดนั้น หญิงชราก็กลายร่างเป็นปีศาจอิบาราคิโดจิ คว้าเอาแขนตัวเอง กระโดดขึ้นหลังคาเคหาสน์ของสึนะแล้วหนีไป

อีกครั้งหนึ่ง โยริมิทสึ ด้วยอารามเพ้อด้วยพิษไข้ ได้ใช้ฮิสะมารุฟาดฟันเงาขนาดยักษ์ที่เขาคิดว่าได้เห็นเมื่อยามลืมตาตื่นเวลากลางคืน เขาและขุนพลชิเทนโนทั้งสี่ได้ตามรอยเลือดไปยังหลุมแห่งหนึ่งบนพื้นดินที่ซึ่งแมลงมุมพสุธายักษ์ (ทสึจิคุโมะ) ที่วัดความยาวได้มากกว่า 1 เมตรถูกพบตายอยู่ ผลพวงจากเรื่องนี้ทำให้โยริมิทสึขนานนามฮิสะมารุใหม่ว่า “คุโมะคิริมารุ” (ดาบตัดแมงมุม หรือ ดาบฆ่าแมงมุม) ต่อมาโยริมิทสึได้มอบดาบทั้งสองเล่มให้กับมินาโมโตะ โนะ โยริโยชิ (988-1075) ทายาทของน้องชายของเขา โยริโนบุ (968-1048) ด้วยต้องการสนับสนุนโยริโยชิในศึกป้องกันทางเหนือ โยริโยชิได้ชัยกลับมาและมอบดาบให้กับบุตรชาย ฮาจิมันทาโร่ โยชิอิเอะ (1039-1106) ผู้ซึ่งหลังจากนั้นได้ส่งมอบดาบให้กับบุตรชายคนที่สี่ของตน ทาเมโยชิ (1096-1156)

เมื่อดาบที่มีชื่อเสียงและเป็นมงคลทั้งสองนี้มาอยู่กับทาเมโยชิ ต่างก็เริ่มส่งเสียงในยามค่ำคืน โอนิคิริร้องคำรามดุจราชสีห์จึงได้นามใหม่ว่า “ชิชิโนะโคะ” (ลูกสิงโต) ส่วนเสียงของคุโมะคิริมารุเหมือนกับอสรพิษจึงได้นามว่า “โฮเอะมารุ” (นักหอน) ลูกเขยของทาเมโยชิเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ในตำแหน่งเบตโตแห่งคุมาโนะ (ดินแดนในเขตวาคายามะ) หากแต่เขาไม่ได้มีชื่อเสียงในเชิงดาบ ทว่าทาเมโยชิและสมาชิกตระกูลมินาโมโตะคนอื่นๆกลับเห็นพ้องต้องกันว่าเขาสมควรได้รับดาบโฮเอะมารุไป ราวกับเป็นเครื่องเตือนสติให้ปรับปรุงตัวให้ดีขึ้น นอกจากนี้ทาเมโยชิยังได้ให้ทำดาบจำลองเหมือนกับดาบชิชิโนะโคะเรียกว่า “โคการาสึ***” (อีกาน้อย) หากแต่ดาบเล่มดังกล่าวมีความยาวกว่าดาบดั้งเดิมอยู่ 2 บุ (~ 6 mm) และอีกครั้งที่ชิชิโนะโคะได้แสดงฤทธิ์ชักตัวเองออกจากฝักและตัดความยาวส่วนเกินของโคการาสึออก ลูกเขยของทาเมโยชิเห็นแล้วก็นึกถึงที่มาของดาบทั้งสองเล่ม และชิชิโนะโคะก็ได้กลับไปใช้นามเก่า “โทโมคิริ”

ต่อจากทาเมโยชิ ดาบโทโมคิริได้ถูกส่งต่อไปถึงมือของบุตรชายคนโตของเขา มินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ (1123-1160) ขณะเดียวกัน วันคืนอันรุ่งเรืองของมินาโมโตะก็ได้สิ้นสุดลง โยริโตโมะได้ตัดพ้อต่อฮาจิมันว่าเขาได้ทอดทิ้งตระกูลของตน แม้ว่าบรรพบุรุษโยชิอิเอะจะมีนามเดียวกับองค์เทพ ฮาจิมันอธิบายให้โยริโตโมะฟังในความฝันว่า เป็นเพราะดาบถูกตั้งชื่อใหม่เสียหลายครั้งทำให้พลังอำนาจเสื่อมลงไป โยริโตโมะจึงได้รีบเปลี่ยนชื่อดาบกลับเป็น “ฮิเงะคิริ” หลังจากนั้นบุตรชายคนที่สามของโยริโตโมะ โยชิโตโมะ (1147-1149) ได้รับดาบโฮเอะมารุคืนจากลูกเขยของทาเมโยชิ เนื่องจากเจ้าตัว (ลูกเขย) ตระหนักว่าตนไม่ควรค่าที่จะเป็นเจ้าของดาบ ดาบถูกส่งต่อไปยังมินาโมโตะ โนะ โยชิทสึเนะ (1159-1189) บุตรชายคนที่เก้าของโยชิโตโมะ โยชิทสึเนะไม่เคยได้ยินเรื่องราวของดาบมาก่อนจึงได้ขนานดาบที่ได้มาว่า อุสึมิโดริ (เขียวอ่อน) เนื่องจากตัวดาบทำให้เขานึกถึงแสงเรืองสีเขียวอันงดงามแห่งภูเขาคุมาโนะ หลังจากโยชิทสึเนะตาย ดาบก็ได้มาอยู่กับพี่ชายของเขา โยริโตโมะ และดาบทั้งสองก็ได้หวนคืนมาพบกันอีกครา

ตารางข้างล่างแสดงการเปลี่ยนชื่อของดาบทั้งสองเล่ม:

CVHFNKSUYAA2B6E.jpg

เรื่องที่เล่ามาข้างต้นเป็นเพียงตำนานเกี่ยวกับที่มาและการส่งต่อกันเป็นทอดๆของดาบในตระกูลมินาโมโตะ แต่ตอนนี้เราจะมาพูดถึงข้อเท็จจริงกัน ปัจจุบันไม่เป็นที่ทราบแน่ชัดว่าฮิสะมารุ/อุสึมิโดรินั้นอยู่ที่ใด แต่โอนิคิริ/ฮิเงะคิรินั้นหลังจากนั้นได้ไปอยู่ในตระกูลโมกามิและได้กลายเป็นสมบัติทางวัฒนธรรม ถูกเก็บรักษาไว้ที่คิตาโนะ เท็นมันกูในเกียวโต ปัญหาเกี่ยวกับดาบเล่มดังกล่าวนี้คือเรื่องของลายเซ็น เพราะชื่อตัวหน้าของลายเซ็นเดิม “ยาสุสึนะ” ได้ถูกเปลี่ยนเป็น “คุนิสึนะ” แต่ในเอกสารสมบัติทางวัฒนธรรมได้ลงบันทึกไว้เป็น “ยาสุสึนะ”

หลังจากโยริโตโมะสิ้นชีพ อย่างน้อยๆ โอนิคิริ/ฮิเงะคิรินั้น ยังคงอยู่ในคามาคุระ (ในขณะที่ฮิสะมารุ/อุสึมิโดริอยู่ที่ใดนั้นไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด) และสุดท้ายได้มาอยู่ในมือของนิตตะ โยชิซาดะ ผู้เข้ามายังคัมนาคุระในปี 1333 และล้มล้างบาฟุคุในสมัยนั้น ที่ทำให้ยิ่งสับสนเข้าไปใหญ่ก็คือ ในเวลาเดียวกันนั้น นิตตะ โยชิซาดะก็ได้ครอบครองดาบที่มีชื่อว่า “โอนิมารุ” โดยช่างคุนิสึนะ ซึ่งเป็นช่างคนเดียวกับที่ลายเซ็นยาสุสึนะของโอนิคิริถูกเปลี่ยน

ผู้มีส่วนในการตายของโยชิซาดะคือชิบะ ทาคาสึเนะ ซึ่งหลังจากนั้นได้นำทั้งดาบโอนิคิริและโอนิมารุไป โดยสันนิษฐานว่าโอนิมารุนั้นได้มาอยู่กับตระกูลอะชิคางะด้วยเหตุนี้ ส่วนโอนิคิริ ต่อมาได้มาอยู่กับตระกูลโมกามิและได้กลายเป็นสมบัติล้ำค่าประจำตระกูล เนื่องจากผู้ได้รับดาบต่อจากทาคาสึเนะคือหลานชายของเขา ชิบะ คาเนะโยริ (1315-1379) ซึ่งในช่วงที่รบกับทางเหนือเขาถูกส่งประจำที่เดวะ และได้รับเอาชื่อของเขตที่เขาอยู่อาศัยมาเป็นนามสกุล นั่นคือ “โมกามิ”

ต่อจากนี้คือข้อสันนิษฐานว่าเหตุใดลายเซ็นบนดาบจึงได้ถูกเปลี่ยนจาก ยาสุสึนะ กลายเป็น คุนิสึนะ

ด้วยเหตุผลกลบางอย่าง ชื่อ “ยาสึสึนะ” ได้นำพาเรื่องยุ่งยากมาให้ตระกูลโมกามิ ความเป็นไปได้หนึ่งอาจเนื่องจากช่างคุนิสึนะมีชื่อดีกว่ายาสุสึนะและตระกูลโมกามิก็อยากจะมีดาบระดับเดียวกับโอนิมารุ คุนิสึนะ แต่อีกทฤษฎีนั้นอ้างว่า เมื่อฮิเดโยชิได้ครอบครองโดจิกิริ ยาสุสึนะ เขาก็เที่ยวเสาะหาดาบยาสุสึนะเล่มอื่นๆ นี่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ตระกูลโมกามิเลือกเปลี่ยนลายเซ็นบนดาบ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะต้องส่งมอบดาบดังกล่าวให้กับฮิเดโยชิในวันใดวันหนึ่ง

หลังจากสมัยเอโดะเป็นต้นมา ดาบโอนิคิริก็ถูกเก็บรักษาไว้ที่ตระกูลโมกามิในนาม “โอนิคิริมารุ” แต่ไม่น่าเป็นไปได้ว่าตระกูลโมกามิพยายามจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างดาบโอนิคิริกับดาบดาบโอนิมารุ หรือเป็นเหตุผลให้พวกเขาเปลี่ยนลายเซ็นบนดาบเป็นคุนิสึนะ (ผู้แปล: คาดว่าผู้แต่งให้น้ำหนักกับเรื่องที่ฮิเดโยชิต้องการดาบยาสุสึนะมากกว่า ส่วนเรื่องให้น้ำหนักกับชื่อคุนิสึนะเป็นเพียงความเป็นไปได้หนึ่งที่ทางผู้แต่งไม่ได้ให้น้ำหนัก แต่เสนอมาเพื่อให้ผู้อ่านได้วิเคราะห์ตัดสินด้วยตัวเอง)

อย่างไรก็ดี ว่ากันว่าอย่างน้อยมีความเกี่ยวข้องกันระหว่างดาบโดจิกิริ ยาสุสึนะ โอนิคิระ ยาสุสึนะแห่งตระกูลมินาโมโตะ และโอนิมารุ คุนิสึนะ ผู้อ่านอาจสงสัยว่าเหตุใดเราจึงกล่าวถึงยาสุสึนะหรือคุนิสึนะ ในเมื่อในทีแรกเรื่องเล่ากล่าวว่าผู้ตีดาบซุนนาชิคือโคคาจิ มุเนะจิกะ ในข้อนี้หากพิจารณาจากตัวงานแล้ว โอนิคิริเป็นงานของยาสุสึนะไม่ผิดเพี้ยน หากแต่สำหรับผู้ตีมาคุระกามิ/ฮิสะมารุนั้น เราได้แต่เพียงคาดเดา เพราะช่างโมฟุสะที่ถูกอ้างถึงในบัญชีช่างตีดาบ (เมย์คัน) นั้นมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคคิวอัน (1145-1151) เมื่อย้อนกลับไปถึงที่มาของดาบ เช่น ช่วงเวลาที่มินาโมโตะ โนะ มิทสึนากะมีชีวิตอยู่ (912-997) ตำนานเรื่องที่โมฟุสะกับโคคาจิ มุเนะจิกะผู้เป็นผู้ตีซุนนาชิ/โอนิคิริ ทำงานในช่วงยุคเดียวกันนั้นแทบเป็นไปไม่ได้**

*แหล่งอ้างอิงบางแหล่งเรียกฮิสะมารุว่าฮิสะคิริ
**ข้อมูลแหล่งหนึ่งกล่าวว่ามุเนะจิกะเสียชีวิตในปี 1014 ส่วนอีกแหล่งคือปี 1017
***แหล่งข้อมูลญี่ปุ่นกล่าวว่า ดาบโคการาสึ สร้างตามแบบฮิสะมารุไม่ใช่ฮิเงะคิริ เป็นไปได้ว่าหนังสือที่เป็นต้นฉบับของบทแปลอาจจะแปลในส่วนนี้ผิด หรืออาจมีแหล่งที่มาอื่น ในส่วนนี้ทางผู้แปลจะขอคงข้อมูลตามในหนังสือต้นฉบับเอาไว้เพื่อให้ผู้อ่านผู้ค้นคว้าได้พิจารณาค่ะ (ขอบคุณคุณ Fuyubi)

5 thoughts on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Higekiri & Hizamaru

  1. เคยอ่านเล่มต้นฉบับที่เอามาแปลนี่เหมือนกัน
    รู้สึกว่าภาษาอังกฤษเล่มนี้จะแปลผิดตรงโคะการาสึจำลองมาจากฮิเกะคิรินะคะ เพราะที่ผ่านมาเวลาเห็นคนญี่ปุ่นคุยกันทำให้รู้ว่าโคะการาสึจำลองมาจากฮิสะมารุที่ถูกส่งไปคุมาโนะต่างหาก ใน yue-ciel เองก็บอกว่าจำลองมาจากเล่มน้องเหมือนกัน

    ชื่ออุสึมิโดริแปลว่า ‘สีเขียวอ่อน’ ค่ะ ไม่ใช่แสงเขียว (light green ≠ green light)

    • ก่อนอื่นต้องบอกว่า เราไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นค่ะ ที่แปลจะแปลจากภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นบทแปลจะแปลจากหนังสือโดยตรง นอกเสียจากจะมีส่วนที่สงสัยจะให้เพื่อนที่รู้ญี่ปุ่นเช็คให้อีกที ตอนที่ฮิเงะฮิสะออกมาค่อนข้างจะห่างแฟนดอมนี้มานานพอสมควรเลยไม่ได้ตามข่าว เลยไม่ได้เช็คเรื่องที่ข้อมูลจากหนังสือไม่ตรงกัน แต่จากประสบการณ์ yue-ciel จะแปลจากข้อมูลอ้างอิงทางญี่ปุ่นซึ่งบางทีเขาก็ไม่ได้ตรวจสอบกับหนังสือหลายเล่ม เลยคิดว่าเช็คจากต้นฉบับญี่ปุ่นหลายๆแหล่งน่าจะดีกว่า (เคยเจอข้อมูลของมิคาสึกิที่ไม่ตรงกับในหนังสือหลายเล่มในส่วนของ yue-ciel ที่ไม่ทราบที่มาอยู่เหมือนกัน)

      ในส่วนของบทแปลตรงนี้คงจะขอไม่แก้ไขเรื่องโคการาสึมารุ เพราะต้องการให้คงข้อมูลตามหนังสือที่มาเอาไว้ ยังไงก็ให้เป็นข้อมูลสำหรับผู้อ่านผู้ค้นคว้าพิจารณากันอีกทีละกันค่ะ (ได้เพิ่มตรงส่วนโน้ตเอาไว้ให้นะคะ)

      ส่วนในส่วนของอุสึมิโดริ ยอมรับค่ะว่าเมาเอง น่าจะรีบแปลเกินไปเลยเห็น light green เป็น green light ตรงนี้แก้ไขในส่วนที่แปลเรียบร้อยแล้ว ขอบคุณนะคะ ^^

      • ขอบคุณที่รับฟังนะคะ ^ ^
        ในส่วนที่แปลเราเข้าใจดีค่ะว่าไม่ควรแก้เพราะต้นฉบับเองก็เขียนมาว่าอย่างนั้น เราแค่อยากบอกในส่วนที่เราเจอมาเท่านั้นค่ะ
        ส่วน yue-ciel นั่นเราแค่ยกมาเป็นตัวอย่างเพราะเป็นแหล่งข้อมูลที่เป็นภาษาอังกฤษเหมือนกันเท่านั้นค่ะ ไม่ได้มีเจตนาจะบอกว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด เพราะจริง ๆ แล้วเว็บนั้นเองก็มักเล่าเรื่องโดยใส่ความเห็นของคนเขียนเข้าไปพอสมควร (แต่เราก็ชอบอ่านอยู่ดีนะ 555+)
        กรณีนี้เพราะเราเห็นจากฝั่งญี่ปุ่นคุยกันมากกว่าเลยเชื่อแบบนั้นค่ะ ขอบคุณที่หมายเหตุเพิ่มให้นะคะ ^ ^

Leave a comment