[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Tsurumaru Kuninaga

Part 1: แปลจาก http://yue-ciel.tumblr.com/post/109914972096/tsurumaru-kuninaga

ชีวิตต้องการเรื่องประหลาดใจเข้ามาอยู่เสมอ หากไม่มีสิ่งใดที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของข้าแล้ว หัวใจของข้าคงจะตายลงเป็นสิ่งแรก

เจ้านายคนแรกของทสึรุมารุที่เป็นที่รู้จักในสมัยคามาคุระคือบุตรจากตระกูลอาดาจินามซาดายาสึ อายุไม่มากไปกว่า 14 ปีเมื่อทสึรุมารุมาอยู่กับเขาในฐานะสหายคู่ใจ ตระกูลอาดาจิเป็นซามูไรบริพาร (御家人) ของตระกูลโฮโจซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการของระบอบโชกุนคามาคุระ และ (ตระกูลอาดาจิ) เป็นตระกูลซามูไรบริพารมีอำนาจเดียวที่ตระกูลโฮโจไม่ได้แตะต้องในช่วงที่เข้าทำลายกลุ่มคู่แข่งทางอำนาจ เนื่องจากตระกูลอาดาจิได้ทำการสวามิภักดิ์ ทว่า สมดุลก็ถูกทำลายเนื่องจากการแข่งขันทางการเมืองระหว่างอาดาจิ ยาสึโมริและไทระ โยริทสึนะ บริพารและผู้พิทักษ์ของผู้สำเร็จราชการคนปัจจุบัน โฮโจ ซาดาโทคิ ไทระกล่าวหาอาดาจิว่าต้องการยึดอำนาจจากโฮโจ ทำให้โฮโจให้ไฟเขียวกับการทำลายตระกูลอาดาจิในเหตุการณ์ชิโมทสึกิ (1285) ซาดายาสึทุกกวาดต้อนเข้าสู่เหตุนองเลือดไม่ใช่เพราะสาเหตุอื่นใด แต่เป็นความเคราะห์ร้าย และทสึรุมารุก็ตามเจ้านายที่อายุเพียง 14 ปีลงสู่หลุมฝังศพ เพื่อที่เด็กชายจะไม่ต้องอยู่อย่างเหงาหงอยเพียงลำพัง

ทว่า เรื่องน่าประหลาดใจก็มาเยือน เมื่อหลุมฝังศพของซาดายาสึถูกเปิด และเด็กชายคนหนึ่งหยิบเอาทสึรุมารุออกมา และแนะนำตัวเองเป็นเจ้านายคนใหม่ โฮโจ ซาดาโทกิ อายุ 14 ปี ไม่ได้เป็นเพียงเด็ก เนื่องจากได้ผ่านพิธีเกมปุคุเพื่อการเป็นผู้ใหญ่ตั้งแต่วัย 5 ขวบ แต่เป็นผู้สำเร้จราชการที่ออกคำสั่งประหารให้กับนายเก่าของทสึรุมารุ

ธีมหลักของเกมคือดาบปรารถนาที่จะรักผู้เป็นนายอยู่เสมอ แม้ว่าจะไม่มีสิทธิเลือกผู้เป็นนาย และทสึรุมารุอาจจะคอยดูแลโฮโจแทนที่นายคนแรกผู้โชคร้ายเพื่อทดแทนช่องว่างการสูญเสียของตัวเอง เฝ้ามองโฮโจเติบโตขึ้นและทำลายศัตรูทางอำนาจด้วยตัวเองในเหตุการณ์ประตูเฮย์เซ็น (1293) เมื่อไทระและผู้ติดตาม 90 นายถูกฆ่าด้วยเหตุผลเดียวกับเหตุผลที่ตระกูลอาดาจิถูกล้างผลาญเมื่อหลายปีก่อน

(ดูหมายเหตุเพื่อข้อเท็จจริงและความแม่นยำทางประวัติศาสตร์)

ทสึรุมารุอยู่กับตระกูลโฮโจในฐานะดาบประจำตระกูล จนกระทั่งบุตรของซาดาโทคิ ทาคาโทคิพบจุดจบด้วยน้ำมือของนิตตะ โยชิซาดะผู้ล้มล้างอำนาจตระกูลโฮโจแห่งระบอบโชกุนคามาคุระ ทาดาโทคิฆ่าตัวตายเมื่อายุ 31 พร้อมกับสมาชิกตระกูลที่วัดประจำตระกูลแห่งโทโชจิ บุตรชายของทาดาโทคิ โทคิยูคิ ผู้สืบทอดสุดท้ายในตระกูลโฮโจ พยายามก่อตั้งระบอบโชกุนคามาคุระขึ้นมาใหม่ด้วยการก่อกบฎ แต่กลับถูกฆ่าโดนอะชิคางะ ทาคาอุจิ ผู้สร้างระบอบการปกครองใหม่ ระบอบโชกุนมุโรมาจิ อะชิคางะ (1336) หลังจากการล่มสลายของตระกูลโฮโจ ทสึรุมารุถูกส่งต่อผ่านเจ้านายหลายมือจนกระทั่งถูกเสนอให้กับโอดะ โนบุนางะ ซึ่งเขา (ทสึรุมารุ) ได้อยู่ด้วยในช่วงสั้นๆก่อนจะถูกส่งต่อให้กับผู้ติดตามของอาเคจิ มิทสึฮิเดะนามมิมาคิ คาเงโนริ หลังจากนั้นบุตรชายของคาเงโนรินำทสึมารุออกสนามรบที่เซคิงาฮาระ (1600) แต่พ่ายแพ้และทสึรุมารุก็หายสาบสูญไป ไม่ทราบว่าตกอยู่ในมือของผู้ใดเมื่อคาเงโนริเสียชีวิต หลายปีต่อมา ทสึรุมารุได้พบที่พักพิงที่ศาลเจ้าฟุชิมิ ฟุจิโมริ แต่ทว่า เรื่องประหลาดใจก็มาถึงอีกครั้ง เมื่อโคเดคิ แห่งตระกูลช่างโฮนามิซึ่งเป็นช่างและผู้เชี่ยวชาญทางดาบและมีสายตาแหลมคมสำหรับมองหาดาบมีค่า หลงใหลในความงามของเขา และขโมยเขาไปจากศาลเจ้า

“อาภรณ์สีขาวดีพอสำหรับข้าแล้ว เมื่อมันถูกย้อมด้วยสีแดงในสนามรบ ข้าจะเป็นเหมือนกระเรียน ใช่ไหมล่ะ”

เรื่องตลกเสียดสีก็คือแม้สัญลักษณ์ของทสึรุมารุจะเป็นตรากระเรียนที่เป็นสัญลักษณ์แห่งโชคและความยั่งยืน เขานำมาแต่สิ่งตรงข้ามให้กับเหล่าผู้เป็นนายของเขา

ทสึรุมารุกล่าวว่าเขาเกลียดความเบื่อหน่ายและมักจะมองหาเรื่องประหลาดใจเสมอเพื่อให้ผ่านห้วงเวลาอันยาวนานไร้สิ้นสุดของตัวเองมาได้ ในฐานะดาบที่ถูกรักษาเอาไว้ได้ดีที่สุดจากสมัยเฮอันทั้งๆที่มีประวัติโชกโชน เขาสนุกกับการหยอกให้คนอื่นตกใจและถูกทำให้ตกใจ หรือแม้แต่การหาความตื่นเต้นในสนามรบ นี่อาจเป็นวิธีที่เขาจัดการกับเรื่องประหลาดใจที่ไม่เคยต้องการที่เข้ามาหาตัวเอง และพยายามมองเรื่องประหลาดใจให้เป็นเชิงบวก เป็นสิ่งที่ให้ชีวิตชีวาแทนที่จะสลดเศร้า แต่เขาก็ยังขีดเส้นแบ่งหากมีการพูดถึงสองเรื่องประหลาดใจที่ใหญ่ที่สุดของตัวเอง ประสบการณ์ที่ผ่านมาทิ้งความดำมืดเอาไว้ในหัวใจของเขา แต่เขาก็มีวิธีการของตัวเองที่จะจัดการกับสิ่งนั้น

ทสึรุมารุถูกตีประมาณปี 1055 (สมัยเฮอัน) โดยนายช่างโกโจ คุนินากะ ว่ากันว่าโกโจเป็นลูกศิษย์ของซันโจ มุเนะจิกะ โกโจ คาเนะนางะ* ซึ่งทำให้ทสึรุมารุเหมือนเป็นหลานชายของดาบตระกูลซันโจ

*แปลตามต้นฉบับ ต้นฉบับอาจมีข้อผิดพลาดเรื่องชื่อหรือ ’s

ต้นฉบับ – Tsurumaru is forged around 1055(Heian) by the swordsmith Gojou Kuninaga. Gojou is said to be the disciple of Sanjou Munechika, Gojou Kanenaga*, which makes Tsurumaru seem like the grandnephew to the Sanjou swords.

**จากการหาข้อมูลเพิ่มเติม โกโจ คุนินากะน่าจะเป็นน้องหรือลูกชายของโกโจ คาเนนากะที่เป็นศิษย์สำนักซันโจมุเนะจิกะอีกที ตามเวบนี้ค่ะ

หมายเหตุ:

เซทติ้งตัวเกมไม่ได้เน้นความถูกต้องทางประวัติศาสตร์แต่โฟกัสไปที่เรื่องเล่าน่าสนใจ เรื่องเล่าของทสึรุมารุในเกมมีพื้นฐานจากข่าวลือเกี่ยวกับตัวเขา (ดาบทสึรุมารุ)

1. ข่าวลือว่าโฮโจ ซาดาโทคิปล้นหลุมศพของอาดาจิ ซาดายาสึเพื่อทสึรุมารุถือว่าเป็นเรื่องทีเ่กิดขึ้นในเกม ดังนั้นซาดายาสึจะตายในเหตุการณ์ชิโมทสึกิตอนอายุประมาณ 8~14 ปี เรื่องเล่าที่ต่างไปคือซาดายาสึมีชีวิตอยู่ถึงปี 1325 แต่ซาดาโทคิตายปี 1311 ซึ่งหากมีการปล้นหลุมศพในโลกของโทเคน ซาดายาสึจะต้องไม่มีชีวิตรอด

2. หลังจากทสึรุมารุถูกนำไปจากศาลเจ้า เขาอยู่ที่บ้านตระกูลโฮนามิก่อนจะถูกขายให้กับตระกูลดาเตะแห่งเซนไดระหว่างปี 1716~1736 ก่อนจะถูกนำขึ้นเสนอต่อองค์จักรพรรดิเมจิในปี 1901 ซึ่งเขาอยู่ที่นั่นจนถึงปัจจุบันในฐานะสมบัติหลวง

*Edit: ผู้แปล – ข้อมูลจากแหล่งนี้ไม่สอดคล้องกับปีที่โอคุริคาระย้ายไปจากเซนได ข้อมูลที่ถูกต้องจึงควรเป็นปี 1876 ตาม Part 3 ที่แปลจากหนังสืออ้างอิงค่ะ

3. การครอบครองทสึรุมารุของอาดาจิและมิมากิไม่มีการยืนยันทางประวัติศาสตร์ เป็นที่ข้องใจว่าทสึรุมารุเคยอยู่ในเหตุการชิโมทสึกิและสงครามเซคิงาฮาระจริงหรือไม่ แต่ทสึรุมารุในเกมพูดเหมือนเคยผ่านศึกมาก่อน ดังนั้นนี่จึงอาจถือได้ว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงในเกม

Part 2: แปลจาก http://yue-ciel.tumblr.com/post/111561597546/tsurumaru-in-the-heian-period

เจ้าของของทสึรุมารุคุนินากะคนแรกในสมัยเฮอันว่ากันว่าคือไทระโนะโคเระโมจิ จากหนึ่งในตระกูลซามูไรที่เก่าแก่และเรืองอำนาจที่สุดในญี่ปุ่น โดยมีเรื่องราวโด่งดังที่มีบันทึกไว้ใน เรื่องเล่าของเฮเคะ ในปี 1051 ลูกชายของเขา ชิเงะโมจิได้รับตำแหน่งอะคิตะ โจโนะสุเกะ (秋田城介) ซึ่งเป็นชื่อตำแหน่งสำหรับผู้ปกครองเขตเดวะและอะคิตะ ทสึรุมารุเกิดในช่วงนี้ ทว่าตำแหน่งผู้ปกครองก็ถูกยุบไปในปี 1062 และชิเงะโมริได้ย้ายครอบครัวไปที่เอจิโกะที่ซึ่งพวกเขาได้กลายเป็นตระกูลที่มั่งคั่ง (豪族) ลูกของชิเงะโมจิ ซาดาชิเงะเปลี่ยนมาใช้นามสกุลโจ (城) เป็นการแสดงความนับถือตำแหน่งเก่าอะคิตะ โจโนะสุเกะ และทสึรุมารุก็ถูกสืบทอดกันมาในตระกูลโจ หลายร้อยปีต่อมา ทายาทของซาดาชิเงะ โจ นางะโมชิ เข้าร่วมกับฝั่งไทระในสงครามเกมเป (1180-1185 สงครามระหว่างตระกูลซามูไรไทระและมินาโมโตะ เพื่อปกครองญี่ปุ่น นำไปสู่การสถานปนาระบอบการปกครองโชกุนคามาคุระ)

อย่างไรก็ตามตระกูลไทระก็ถูกปราบลงและนางะโมชิก็อยู่ในสถานะไม่มั่นคง คาจิวาระ คาเงะโทคิ บริพารที่มีชื่อเสียงเหม็นเน่าของมินาโมโตะโนะโยริโตโมะชักชวนให้เขาเข้าร่วมเป็นกองกำลังของตัว และนางาโมชิก็ได้พิสูจน์ตัวเองโดยการปราบตระกูลฟุจิวาระในสงครามโอชู (1189) หลังจากโยริโตโมะเสียชีวิต คาเงะโทคิไม่เป็นที่ชื่นชอบของขุนนางอื่นๆและถูกกำจัดในที่สุด และนางาโมชิที่พึ่งการสนับสนุนจากเขาก็อยู่ในสถานะน่าลำบากอีกครั้ง ในที่สุดตระกูลของเขาก็ก่อกบฎกับระบอบโชกุนคามาคุระในช่วงความอลหม่านของการช่วงชิงอำนาจหลังโยริโตโมะเสียชีวิต เรียกกันว่าสงครามเคนนิน (1201) แต่กลับพ่ายแพ้ และตระกูลโจก็หายไปจากหน้าประวัติศาสตร์

สองทศวรรษต่อมา (1218) ตำแหน่งอะคิตะ โจโนะสุเกะถูกตั้งขึ้นอีกครั้ง 150 ปีหลังจากถูกยกเลิกและคาเงะโมริแห่งตระกูลอาดาจิย้ายไปอยู่อะคิตะเพื่อรับตำแหน่งซึ่งเดิมเป็นของตระกูลโจที่ล่มสลายไปแล้ว ทสึรุมารุน่าจะถูกนำไปโดยผู้ได้ชัยจากสงครามครั้งก่อนและมอบให้กับอาดาจิ คาเงะโมริซึ่งตระกูลเป็นบริพารที่ภักดีกับมินาโมโตะโนะโยริโตโมะตั้งแต่ตอนที่เขา (มินาโมโตะโนะโยริโตโมะ) ยังอยู่ในวัยเยาว์และถูกเนรเทศอยู่ที่อิสึ และได้ช่วยปราบตระกูลไทระ ทว่า เพียง 67 ปีหลังจากนั้น ตระกูลอาดาจิเองก็ต้องล่มสลายด้วยฝีมือของผู้สำเร็จราชการโฮโจ ผู้ซึ่งต่อมาถูกกวาดล้างโดนตระกูลอะชิคางะ สามตระกูลที่ได้เป็นเจ้าของทสึรุมารุในสมัยเฮอันจวบจนกระทั่งยุคมุโรมาจิไม่ได้มีจุดจบที่สวยงาม

สรุปเกี่ยวกับนายเจ้าของดาบ: ตระกูลโจทายาทไทระ (1055-1201) -> ตระกูลอาดาจิทายาทมินาโมโตะ (12xx-1285) -> ตระกูลโฮโจทายาทไทระ (1285-1353)

เจ้าของแรกของทสึรุมารุที่ถูกคาดเดากันคือไทระโนะโคเระโมจิ (เนื่องด้วยตามทามไลน์แล้ว โคเระโมจิไม่น่าจะมีชีวิตอยู่ช่วงที่ทสึรุมารุเกิด) ซึ่งมีชื่อเสียงจากเรื่องเล่าการปราบปีศาจในตำนานโมมิจิ (紅葉伝説) แม้ว่าดาบที่ใช้ในเรื่องจะไม่ใช่ทสึรุมารุแต่อาจเป็นโคการาสึมารุ

โมมิจิเกิดภายใต้คำภาวนาจากปีศาจเท็นมะ (第六天魔) นางงดงามและมีพลังเวทมนตร์ แต่นางตามใจตัวเอง ใช้ภาพลวงตาก่อกลให้ได้ความมั่งคั่งมา นางได้กลายเป็นสนมของมินาโมโตะโนะทสึเนะโมโตะ แต่ได้สาปภรรยาของเขา เมื่อโมมิจิได้ตั้งครรภ์ลูกของทสึเนะโมโตะ เมื่อภรรยาของทสึเนะโมโตะป่วยด้วยโรคปริศนา พระจากภูเขาฮิเอที่มารักษาก็มองเห็นคำสาปของโมมิจิ นางจึงถูกเนรเทศไปที่ปลายน้ำโทงาคุชิ ขณะที่ยังท้องลูกของทสึเนะโมโตะ ความงามสง่าของโมมิจิทำให้เธอเป็นที่รักของชาวบ้าน แต่เธอก็นึกถึงแต่ความหรูหราของชีวิตในเกียวโต ต่อมาเธอจึงเข้าร่วมกับกองโจรภูเขาเข้าปล้นสะดมชาวบ้านด้วยเวทมนตร์สะสมทุนไว้เดินทางกลับ เมื่อหลวงทราบเรื่องจึงส่งไทระโนะโคเระโมจิไปปราบนางแม่มด ไทระขึ้นเขาโทงาคุชิปลอมตัวเป็นนักเดินทางผู้ปรารถนาชื่นชมทิวทัศน์ฤดูใบไม้ผลิ โมมิจิเชิญเขามาที่บ้านและเตรียมจัดงานเลี้ยง รินเหล้าที่แฝงไปด้วยยาพิษ แต่โคเระโมจิรู้ทัน สุดท้ายโมมิจิแสดงตัวตนที่แท้จริงในฐานะแม่มดคิโจะ (鬼女) และทั้งสองได้ต่อสู้กันดุเดือด โคเระโมจิที่ไม่มีอาวุธดีสวดมนต์ต่อพระโพธิสัตว์ฮาจิมันให้ช่วยเหลือ โพธิสัตว์จึงส่งผู้ติดตามของท่าน เทพทาเคอุจิลงมาประทานดาบศักดิ์สิทธิ์ให้ โคเระโมจิจึงสามารถสังหารนางแม่มดได้ด้วยดาบนั้น

คิโจะและยามัมบะมาจากปีศาจประเภทเดียวกัน คิโจะคือนามของปีศาจในวัยเยาว์ และยามัมบะในวัยชรา สิ่งที่น่าสนใจก็คือแม่มดภูเขาที่ถูกฆ่าในเรื่องของยามัมบะกิริเองก็มาจากภูเขาโทงาคุชิ ไม่มีบันทึกไว้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกของโมมิจิหลังนางตาย

Part 3: แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2012). Legends and Stories around the Japanese Sword 2, pp.113-117. Raleigh: Lulu Enterprise, Inc.

หมายเหตุ:
1. ประวัติฉบับนี้ต่างจากข้อมูลเดิมจากเวบของคุณ yue-ciel เนื่องจากไม่มีเรื่องเกี่ยวกับที่ทสึรุมารุเคยอยู่ที่ตระกูลอาดาจิและถูกขโมยจากสุสาน
2. เรื่องที่ดาบถูกขโมยจากสุสานของอาดาจิเดิมทีเป็นเพียงข่าวลือ แต่ตัวเกมได้นำเสนอดาบจากข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาบเล่มนั้น ดังนั้น canon ของเกมจึงถือว่าทสึรุมารุน่าจะเคยอยู่ที่ตระกูลอาดาจิมาก่อน
3. ผู้แปลแปลประวัติฉบับนี้เพื่อเป็นข้อเท็จจริงประกอบเกี่ยวกับตัวดาบเพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูล ซึ่งข้อมูลบางส่วนไม่ได้ถูกนำมาเอ่ยถึงในเกม (แต่อาจมีการกล่าวถึงในแฟนดอม เช่น รอยสักรูปดอกรินโดของทสึรุมารุ)

Tsurumaru Kuninaga

ครั้งหนึ่งนักกวีโจมุได้รวบรวมหลักฐานต่างๆเกี่ยวกับดาบทสึรุมารุ คุนินากะในปีโจเคียวที่หนึ่ง (1684) ซึ่งกล่าวว่าครั้งหนึ่งเจ้าของดาบคือไทระ โนะ โคเรโมจิ หลานชายของโจ ทาโร่ ซาดาชิเงะ ในปีเอโชที่หก (1051) ลูกของโคเรโมจิได้รับตำแหน่ง “เดวะโจโนะสุเกะ” คือเป็นผู้ปกครองจังหวัดเดวะและอะคิตะ หลังจากยุคคามาคุระเป็นต้นมา ตำแหน่งนี้เปลี่ยนชื่อเป็น “อะคิตะ โจโนสึเกะ” และเพราะชื่อโจโนะสึเกะนี้ ทายาทของชิเงโมจิ เช่น ทาโร่ ซาดาชิเงะ ก็ได้นำเอานามสกุล “โจ” มาใช้

ขณะเดียวกัน บันทึกเกี่ยวกับดาบ “โกะโทเคนคิ” แห่งตระกูลดาเตะบันทึกไว้ว่า ในช่วงปีโฮเก็น (1156-1159) เจ้าของเดิมของทสึรุมารุคือมุราคามิ ทาโร่ นางะโมริ ซึ่งหลังจากนั้น ดาบได้มาอยู่กับเซอิโนะ ซาบุโร่ นิวโด ตระกูลเซอิโนะเป็นระกูลสาขาที่ตั้งอยู่ในชินาโนะของตระกูลมุราคามิ เมื่อมาอยู่ในมือเจ้าของคนต่อมาซึ่งก็คือ โจ มุทสึ โนะ ทาโร่ จิคันโบคุ ผู้สืบทอดตระกูลโจในสมัยเฮอัน ว่ากันว่าดาบได้หายไปหลังจากพวกมองโกลเข้ามารุกรานในปี 1281 บันทึกกล่าวว่าเขาได้ฆ่าชาวมองโกลมากมายด้วยดาบเล่มนี้ในการสู้รบหลายครั้ง ก่อนจะถูกฆ่าตายในการรบหนหนึ่ง หลังจากนั้น ผู้สำเร็จราชการ โฮโจ ซาดาโทคิ (1271-1311) ได้สั่งให้ตามหาดาบเล่มดังกล่าว ดาบถูกพบและได้กลายมาเป็นสมบัติของตระกูลโฮโจ ทว่าบันทึกจากตระกูลดาเตะอาจไม่ได้เชื่อถือได้ทั้งหมด เนื่องจากใน “คิอามิฮงเมย์สึคุชิ” จากยุคนันโบคุโจได้บันทึกว่ามีดาบที่ตีโดยคุนินากะถึงสองเล่ม เล่มหนึ่งของเป็นของเซอิโนะ ซาบุโร่ นิวโด และอีกเล่มหนึ่ง เป็น “ทาจิตีโดยช่างตีเดียวกัน และโจ โนะ ทาโร่เป็นเจ้าของ”

คำอธิบายที่น่าจะสมเหตุสมผลอาจเป็นได้ว่า ดาบทสึรุมารุ คุนินากะเคยอยู่ในตระกูลโจจนกระทั่งชาวมองโกลเข้ามารุกรานและตระกูลมุราคามิหรือเซอิโนะมีดาบอีกเล่มหนึ่งที่ตีโดยช่างคนเดียวกัน อย่างไรก็ดี หลังจากการล่มสลายของโฮโจในช่วงปลายยุคคามาคุระ เบาะแสของดาบก็หายไป สองร้อยกว่าปีต่อมา พบว่าดาบอยู่กับโอดะ โนบุนากะซึ่งมอบมันให้กับบริพารคนสนิทนาม “มิมาคิ คันเบย์” คันเบย์ผู้นี้ไม่มีบุตรชาย จึงได้มอบดาบให้กับบุตรสาวตอนที่นางแต่งงานกับคนตระกูลมัทสึดะ บุตรสาวผู้นี้ทอบดาบให้กับลูกคนเดียวและคนสุดท้ายของนางนาม โซไค ซึ่งเป็นพระ โซไคเป็นผู้มีการศึกษาและทำการสืบหาเกี่ยวกับดาบสมบัติตระกูลของตัว เขานำมันไปให้พวกฮงอามิดู แล้วก็ต้องประหลาดใจ เมื่อฮงอามิถามว่า “ดาบของท่านทำให้พวกเรานึกถึงดาบทสึรุมารุแห่งตระกูลโฮโจอันเลื่องลือ มีเอกสารหลักฐานใดๆที่มากับดาบเล่มนี้บ้างหรือไมj” โซไครีบไปเยี่ยมบ้านตัวเองทันใด และค้นหาบันทึกข้อมูลที่พอจะเป็นประโยชน์ และเขาก็ได้พบจดหมายจากอาเคจิ มิทสึฮิเดะในหีบเก่าๆซึ่งบอกว่าดาบเคยเป็นสมบัติของโนบุนากะมาก่อน และเคยถูกสืบทอดกันมาในตระกูลโฮโจ นี่จึงเป็นหลักฐานว่าดาบเล่มนี้คือทสึรุมารุ คุนินากะจริง จากนั้นโซไคจึงไปเยือนโจมุและสั่งให้ทำสำเนาอีกฉบับสำหรับเอกสารเกี่ยวกับตัวดาบ

ข่าว “การค้นพบ” ดาบอันเลื่องลือนี้อีกครั้งได้แพร่ออกไป หลังจากนั้นตระกูลดาเตะจึงได้ขอซือดาบผ่านทางพวกฮงอามิ ราคาในตอนนั้นน่าจะประมาณทองคำ 200 เรียว [เปลี่ยนแปลงตามที่คุณ chibitare ได้แจ้งไว้ว่ามีหน่วยค่าเงินประกอบสำหรับคำว่า 200 pieces of gold ค่ะ] ซึ่งดูจากค่าที่ออกเอาไว้บนโอริกามิจากปีเก็นโรคุที่สิบหก (1703) ดาบได้กลายมาเป็นสมบัติล้ำค่าในตระกูลดาเตะและหลังจากนั้นก็ได้ถูกมอบให้กับจักรพรรดิเมจิตอนที่จักรพรรดิเสด็จเยือนเซ็นไดในปี 1876

ส่วนเรื่องชื่อของดาบเล่มนี้ “เคียวโฮเมย์บุทสึโช” กล่าวไว้สั้นๆว่า “ข้อมูลเกี่ยวกับชื่อ ทสึรุมารุ ไม่เป็นที่แน่ชัด” ในบันทึกเกี่ยวกับดาบของตระกูลดาเคะ “โกเทนคิ” เขียนเอาไว้ว่า “ฮาบาคิ นิ รินโด โอะ สึคาสึ ยตเตะ “รินโด” โตะ นาสึเกะ มะตะ “ทสึรุมารุ” โตะ โกสึ” ซึ่งแปลว่า “ส่วนฮาบาคิ*มีรอยบากเป็นรูปดอกรินโด ดังนั้น [ดาบ] จึงมีชื่อว่า “รินโด” แต่ยังมีชื่อ “ทสึรุมารุ” ด้วย” สันนิษฐานว่าตรารินโดดังกล่าวเป็นตราสัญลักษณ์ตระกูลหนึ่ง ที่น่าสนใจก็คือ บันทึกว่าด้วยดาบ “รินโด” เล่มนี้มีเขียนเอาไว้สองเรื่องที่แตกต่างกัน

ใน “คิอามิฮงเมย์สึคุชิ” ได้เสนออีกที่มาหนึ่งของชื่อ “รินโด” และยังกล่าวถึงอีกชื่อหนึ่งของดาบเล่มนี้ด้วย ในบันทึกดังกล่าวเขียนว่า “รินโด โตะ นาสึคุ ซายะ นิ สึคาสึ ยุเฮะ นาริ ะตะ วะ “มิซาซากิ” โตะ โมะ อิฟุ โฮริอิทาสึ ยุเฮะ นาริ” แปลว่า “เรียกว่า “รินโด” เนื่องจากรอบบากบนส่วนปลอก [ดาบ] ยังถูกเรียกว่า “มิซาซากิ” เพราะถูกขุดมาจากที่ดังกล่าวอีกด้วย”

“มิซาซากิ” หมายถึง สุสานหลวงหรือสุสานจักรพรรดิ การตีความโดยทั่วไปของคำว่า “โฮริอิทาสึ” คือ “โฮริดาสึ” แปลว่า “ขุด” ความหมายของชื่อด้านบนจึงแปลออกมาได้ตามนั้น สันนิษฐานว่าดาบเป็นของฝังร่วมของโฮโจ ซาดาโทคิหรือโจ มุทสึ โนะ ทาโร่ จิคันโบคุ แต่หากเป็นเรื่องจริง ดาบน่าจะถูกขุดออกมาไม่นานหลังจากการฝังศพ มิเช่นนั้นทสึรุมารุ คุนินากะคงไม่ได้เป็นดาบที่มีสภาพดีที่สุดเล่มหนึ่งของดาบที่เกิดในยุคเฮอัน

ในยุคมุโรมาจิ บันทึกเกี่ยวกับดาบ “ทาเคยะ คิโซ นิวโด เมคิคิโช” ได้คาดเดาที่มาของชื่อ “ทสึรุมารุ” ว่า ในช่วงกบฎโฮเก็น (โฮเก็น โนะ รัน) ในช่วงปี 1156 มุราคามิ ทาโร่ได้พกดาบเล่มดังกล่าวในเครื่องทรงที่มีตราประจำตระกูลรูปกระเรียนลักษณะกลม (ทสึรุมารุ ในภาษาญี่ปุ่น) ตรานี้เป็นที่นิยมและถือว่าเป็นตรามงคลที่เหมาะกับการประดับเครื่องแต่งกายและ เหนือกว่าสิ่งอื่นใด เหมาะสมกับการประดับส่วนซายะของดาบในช่วงต้นและกลางยุคคามาคุระ ซึ่งข้อสันนิษฐานนี้สามารถยืนยันได้จากหลายตัวอย่าง เช่น ดาบที่ฟุจิวาระ โนะ โยริทสึเนะ (1218-1256) มอบให้อิทสึคุชิมะจินจะในปีนินจิที่หนึ่ง (1240) หรือทาจิที่เป็นของมินาโมโตะ โนะ โยชิทสึเนะ (1159-1189) ซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่คุรามะเดระ

ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากในปัจจุบันใช้การอ้างอิงระบบของ “ทาเคยะ คิโซ นิวโด เมคิคิโช” คือชื่อของดาบได้จากเครื่องทรงประดับดาบแรกสุด ซึ่งในเวลาต่อมาได้ถูกเปลี่ยนเป็นเครื่องทรงที่มาตราดอกรินโด ช่างคุนินากะทำงานในช่วงปีเทนกิ (1053-1058) ตามหลักฐานที่มีแล้วอาจเป็นน้องชายหรือลูกของโกโจ คาเนนากะ เขาอาซัยอยู่ในเขตโบมง แถวถนนสายที่ห้าของเกียวโต

*เป็นฮาบาคิดั้งเดิม ก่อนที่ตระกูลดาเตะจะสั่งเครื่องทรงใหม่มาให้กับดาบ

ล่าง: ซ้าย ตรารินโด และ ขวา ตรากระเรียน

Screen Shot 2558-06-15 at 2.15.57 PM

7 thoughts on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Tsurumaru Kuninaga

  1. มองๆแล้วตรารินโดนี่เหมือนของพี่น้องฮิเงกับฮิสะเลยค่ะ

Leave a comment