[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Mikazuki Munechika

Part 1: แปลจาก http://yue-ciel.tumblr.com/post/110172078726/mikazuki-munechika

ปู่มิกะถูกสร้างขึ้นในศต.ที่ 11 (สมัยเฮอัน) โดนช่างตีดาบที่มีชื่อ ซันโจ มุเนะจิกะ เขา (ปู่) อยู่กับตระกูลซามูไรเก่าแก่อะชิคางะ ซึ่งสืบเชื้อสายจากตระกูลสาขาของตระกูลมินาโมโตะ เป็นเวลานานในฐานะดาบสมบัติประจำตระกูล ตระกูลอาชิคางะถึงจุดสูงสุดโดยการตั้งระบอบโชกุนมุโรมาจิ อะชิคางะ (1336-1573) หลังจากอะชิคางะ ทาคาอุจิล้มตระกูลโฮโจที่ปกครองระบอบโชกุนคามาคุระ (1185-1333)

เจ้านายที่มีชื่อเสียงที่สุดของเขาคือ อะชิคางะ โยชิเทรุ (1536-1565) ที่ได้สมญาว่า โชกุนนักดาบผู้ยิ่งใหญ่ (剣豪将軍) เนื่องด้วยความสามารถและรสนิยมสูงเกี่ยวกับดาบ เขา (โยชิเทรุ) เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดาบที่กระตือรือร้นที่จะเพิ่มพูนคลังสะสมดาบมีชื่อของตระกูล ซึ่งในคลังสะสมนั้นมีสี่ในห้าสุดยอดดาบของญี่ปุ่น (天下五劍) อยู่ด้วย รวมไปถึงโฮเนะบามิ* ทว่า สามไดเมียวผู้ครองอำนาจร่วม มัทสึนางะ ฮิซาฮิเดะ และมิโยชิ ต้องการจะถอดถอนเขาจากอำนาจและตั้งโชกุนหุ่นเชิดขึ้นมาแทนที่ ทำให้เกิดเหตุการณ์ เอโรคุ (1565) กองกำลังของพวกเขาเข้าโจมตีเคหาสน์ของโยชิเทรุที่ปราสาทนิโจ

*เรื่องเล่าขานหนึ่งกล่าวว่า โยชิเทรุถูกเหล่าทหารต้อนไปถึงห้องที่เก็บสะสมดาบมีค่าเอาไว้ และได้ต่อสู้จนกระทั่งใช้ดาบเล่มสุดท้าย หยิบเปลี่ยนเอาดาบมีค่าเล่มแล้วเล่มเล่ามาใช้แล้วหักลงทีละเล่มๆระหว่างการต่อสู้ที่ดุเดือด เมื่อโยชิเทรุสิ้นลมลงด้วยความเหน็ดเหนื่อย ดาบสุดท้ายที่อยู่ในมือที่เขายังไม่ได้ใช้ ก็คือมิคาสึกิ

“อา สิ่งไม่จีรังที่มีกายเนื้ออาจสูญสลายได้วันใดวันหนึ่ง นี่คงเป็นสิ่งนั้นที่ถูกพูดถึงเป็นแน่” -บทพูดของมิคาสึกิเมื่อถูกทำลาย

ความเยือกเย็นและทัศนคติแบบไม่ใส่ใจอะไรในชีวิตของมิคาสึกิอาจมาจากประวัติศาสตร์การมีอยู่อย่างยาวนาน และการรอดผ่านความตาย (ของตัวเอง) ที่บังเกิดแก่เจ้านายและผองเพื่อนดาบมาได้อย่างเฉียดฉิว

มาซายาสุแห่งสามอำนาจปกครองมิโยชินำมิคาสึกิไปเป็นรางวัลแห่งชัยชนะหลังเหตุการณ์เอโรคุ จากนั้นจึงมอบดาบให้กับโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ผู้มอบมิคาสึกิต่อให้กับภริยาผู้เป็นซามูไร เนเนะ (โคไดอิน) สุดท้ายจึงได้ไปอยู่ที่ตระกูลโชกุนโทคุกาวะ จนกระทั่งปัจจุบัน ดาบพำนักอยู่ที่พิพิธภัณ์แห่งชาติกรุงโตเกียว

มิคาสึกิมีรัศมีของความสง่างามและท่วงทีที่สุภาพเพราะเขาอยู่กับตระกูลชั้นสูงของเหล่าโชกุนและซามูไรมีอำนาจมาตลอด และอาจจะไม่เคยถูกใช้ในการต่อสู้จริง เขาบอกว่าเขาไม่รู้ว่าจะใช้อุปกรณ์ทำนาอย่างไรเมื่อคุณ (ซานิวะ) ให้เขาไปทำงานในนา และแทบไม่เคยไปร้านค้าเองเลย เนื่องจากการใช้ชีวิตแบบขุนนางตั้งแต่สมัยเฮอัน

มิคาสึกิมีชื่อเป็นหนึ่งในห้าสุดยอดดาบแห่งญี่ปุ่น และขึ้นชื่อว่างามที่สุดในห้าดาบ คมดาบลักษณะบางเป็นรูปแบบที่แตกต่างออกไปของโคโต (ดาบแบบเก่า) มีโค้งที่สง่างามตั้งแต่จากนาคาโงะ (ส่วนปลาย) ลงมาถึงส่วนครึ่งล่งของดาบ แต่แทบไม่มีส่วนโค้งในช่วงบน ชื่อมิคาสึกิหมายถึงจันทร์เสี้ยว ซึ่งมาจากลายฮามอนรูปจันทร์เสี้ยวของดาบ

หมายเหตุ:

1. โยชิเทรุเกิดในช่วงสงครามเซ็งโกคุ (1467-1603) ซึ่งในตอนนั้นระบอบโชกุนอะชิคางะเป็นรัฐบาลกลางที่อ่อนแอ ในขณะที่อำนาจอยู่ที่เหล่าไดเมียวที่ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงอาณาเขตพื้นที่ โยชิเทรุพยายามอย่างมากในการคืนอำนาจสู่ระบอบโชกุนอะชิคางะ และความพยายามทางการฑูตของเขาทำให้เขาเป็นที่รู้จักในกลุ่มเหล่าไดเมียวที่มีอำนาจ อาทิเช่น อุเอสึกิ เคนชิน และโอดะ​ โนบุนางะ เขา (โยชิเทรุ) เป็นที่รู้จักว่าเป็นโชกุนที่มีความสามารถคนสุดท้ายของระบอบอาชิคางะ และถูกลอบสังหารในเหตุการณ์เอโรคุเนื่องจากสมรรถนะของเขา

2. สี่ในห้าสุดยอดดาบแห่งญี่ปุ่นแห่งตระกูลอะชิคางะ ได้แก่ มิคาสึกิ มุเนะจิกะ โดจิคิริ ยาสุทสึนะ โอนิมารุ คุนิทสึนะ และโอเทนตะ มิทสึโยะ ดาบทั้งห้าได้รับสมญานามเป็นสุดยอดดาบแห่งญี่ปุ่นในช่วงระบอบโชกุนมุโรมาจิ โฮเนะบามิมีบทพูดกับมิคาสึกิ (ในเกม) ว่าด้วยเรื่องที่ทั้งคู่อยู่ที่ตระกูลอะชิคางะเป็นเวลานาน ทว่าโฮเนะบามิสูญเสียความทรงจำไปจนหมด

3. เรื่องเล่าอื่นๆเกี่ยวกับเหตุการณ์เอโรคุมีเล่าว่าครั้งที่โยชิเทรุถือมิคาสึกิอาจเป็นครั้งเดียวที่มิคาสึกิได้ใช้งานจริงในการต่อสู้ แต่อีกสายหนึ่งบอกว่ารูปร่างของคมดาบของมิคาสึกิไม่เหมาะสมกับการใช้ในการต่อสู้ ดังนั้นจึงเป็นดาบที่ไม่เคยใช้งานจริง เรื่องนี้ ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณการคาดคะเนของแต่ละฝ่าย

Edit: [เนื่องจากทางเจ้าของบลอกได้ทำการแปลเรื่องของโดจิกิริ ยาสุทสึนะเอาไว้ในประวัติรวมเท็งกะโกะเคนแล้ว และพบความไม่สอดคล้องของชื่อผู้ปราบชูเทนโดจิตามประวัติของโดจิกิริ ดังนั้นจะขอยึดตามหนังสือตามโพสต์ที่แปล และขอลบส่วนที่แปลจากคอมเมนต์ใน wikia ตรงนี้ออกค่ะ]

Part 2: แปลจากหนังสือ Monogatari de Yomu Nihon no Touken 150 [โดย @taiki_taiki]

มิคาสึกิ มุเนจิกะ

ด้วยรูปทรงอันองอาจซึ่งบนใบดาบปรากฏลวดลายจันทร์เสี้ยว

มิคาสึกิมุเนจิกะ คือทะจิโดยผลงานของนายช่างสมัยเฮอันนาม ซันโจว มุเนจิกะ ได้ชื่อว่าเป็น “ดาบเลื่องชื่อในหมู่ดาบเลื่องชื่อด้วยกัน” มุเนจิกะอาศัยอยู่ที่เขตซันโจวในจังหวัดยามะชิโระ จึงมักสลักลายเซ็นว่า “ซันโจว” หรือ “มุเนจิกะ” มิคาสึกิจึงมีคำว่า “ซันโจว” สลักอยู่นั่นเอง ตัวซันโจว มุเนจิกะเป็นที่รู้จักในฐานะนักตีดาบมีชื่อที่สร้างสรรค์ผลงานดาบออกมามากมาย ทว่า ปัจจุบันเหลือเพียงห้าเล่มเท่านั้นที่เป็นที่รู้จัก

ในขณะเดียวกัน ดาบเหล่านั้นยังเป็นดาบชั้นเลิศซึ่งสมความลือชื่อของมันยิ่ง

ตัวดาบมีลักษณะแคบและโค้งเว้าได้องศาที่สวยงามลงตัว เพราะบนส่วนฮะมงของดาบมีลวดลายมีลวดลายคล้ายจันทร์เสี้ยว ยามที่ต้องแสงจึงราวกับมีดวงจันทร์อยู่บนใบดาบ ทำให้ได้รับฉายานามว่า “มิคาสึกิ”

ในการทำศึกสงครามสมัยเฮอัน ธนูถือเป็นอาวุธที่เป็นหัวใจที่สำคัญที่สุด ดังนั้นทะจิจึงเป็นเครื่องประดับยศที่ใช้แสดงฐานะ และในหมู่ดาบประดับเหล่านั้น มิคาสึกิถือว่ามีความโดดเด่นกว่าดาบอื่นๆ การได้ชื่อว่าเป็น “ดาบเลื่องชื่อในหมู่ดาบเลื่องชื่อด้วยกัน” นั้นถือเป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน และเมื่อกล่าวถึง “เทนกะโกะเคน” ซึ่งเริ่มมีการกล่าวขานขึ้นในยุคมุโรมาจิเป็นต้นมา มิคาสึกิถือได้ว่าเป็นตัวแทนของเทนกะโกะเคนเลยทีเดียว โชกุนรุ่นที่แปดของโทคุกาวะบาคุฟุ โทคุกาวะ โยชิมุเนะ เองก็ได้มีการสั่งให้บันทึกชื่อของมิคาสึกิลงในบันทึก “เคียวโฮเมบุสึ” เช่นกัน

แม้ด้ามจับจะเสียหาย ทว่า ฝักดาบยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน เมื่อดูจากรูปแบบของฝักดาบแล้วทำให้เข้าใจได้ว่าฝักดาบนั้นถูกสร้างขึ้นในสมัยอะสึจิโมโมยามะ จึงทำให้ทราบว่ามิคาสึกิเป็นที่ชื่นชมของเหล่านักรบหลายต่อหลายชั่วอายุคน

ด้วยความงดงามเป็นเหตุ จึงได้ผ่านมือผู้มีอำนาจคนแล้วคนเล่า

มิคาสึกิถูกสร้างขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 11 จนถึงต้นศตวรรษที่ 12 บางตำราก็ว่าถูกสร้างในช่วงปลายศตวรรษที่ 10 ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าถูกสร้างขึ้นในช่วงเวลาใดกันแน่ และไม่ทราบแม้กระทั่งว่ามีที่มาที่ไปเช่นไร รู้เพียงว่าเป็นดาบสมบัติของโชกุนตระกูลอะชิคางะในยุคมุโรมาจิ

ปีเอโรคุที่ 8 (1565) เกิดเหตุการณ์กบฏปีเอโรคุขึ้น ซึ่งนำโดยมัตสึนากะ ฮิซาฮิเดะ ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทรราชย์แห่งแผ่นดิน และกลุ่มสามนักรบแห่งมิโยชิ รวมหัวกันทำการกบฏรัฐประหารโชกุน อะชิคางะ โยชิเทรุ และในหมู่ดาบที่โยชิเทรุใช้ในเหตุการณ์นั้นมีมิคาสึกิรวมอยู่ด้วย โยชิเทรุเป็นนักรบฝีมือดีที่ได้รับสมญานามว่าเป็น “โชกุนนักดาบ” ซึ่งแม้จะถูกนักฆ่าฝีมือดีแห่แหนบุกเข้ามาสังหารก็ยังไม่หวาดหวั่น หยิบดาบฟาดฟันศัตรูที่หลบอยู่หลังเสื่อตาตามิ และฟาดฟันนักฆ่าคนแล้วคนเล่าด้วยวิชาดาบอันเยี่ยมยอด ความน่าครั่นคร้ามในตัวโยชิเทรุทำให้เหล่านักฆ่าต่างหวาดกลัว จึงพร้อมใจกันล้อมตัวโชกุนนักรบจากทุกสารทิศจนสกัดการเคลื่อนไหวและลอบสังหารจนสำเร็จ ซึ่งในเหตุการณ์นั้นมิคาสึกิก็ถูกนำมาใช้ต่อสู้ด้วย

หลังจากเกิดกบฏเอโรคุ มิคาสึกิจึงกลายเป็นสมบัติของมิโยชิ มาสะคาสึ หนึ่งในสามนักรบมิโยชินั่นเอง และสุดท้ายก็ถูกนำมาบรรณาการให้แก่โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ตัวฝักดาบมีการเคลือบผงทองเอาไว้ อีกทั้งที่ที่ด้ามจับยังมีการลงรักด้วยภาพสลักทองคำเอาไว้แสดงให้เห็นถึงความหรูหรา ประกอบกับเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาว่าฮิเดโยชิชื่นชอบความหรูหราฟู่ฟ่า ทำให้สันนิษฐานว่าตัวฝักน่าจะทำขึ้นในสมัยที่ยังอยู่ในครอบครองของฮิเดโยชิ

บางตำราก็ว่า เนเนะ ซึ่งเป็นภรรยาหลวงของฮิเดโยชินำมิคาสึกิไปมอบให้กับ ยามานากะ ชิกะโนะสึเกะ ซึ่งเป็นข้ารับใช้ตระกูลอามาโกะแห่งอิซึโมะ ตระกูลอามาโกะถือเป็นตระกูลไดเมียวยุครณรัฐที่มีอำนาจมากที่สุดตระกูลหนึ่งในแถบตะวันตกของเกาะฮอนชู แต่ก็ถูกโมริ โมโตนาริ กำราบจนสิ้นในภายหลัง ทว่าชิกะโนะสึเกะต้องการที่จะฟื้นฟูตระกูลอามาโกะให้ได้ จึงมักจะกราบไหว้บูชาจันทร์เสี้ยวและทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับการต่อสู้เพื่อฟื้นฟูตระกูลอามาโกะ และมักจะอธิษฐานต่อจันทร์เสี้ยวว่า「我に七難八苦を与えたまえ」(เป็นการเปรียบเปรยว่าขอให้ตระกูลโมริยกทัพบุกมาเพื่อตนจะได้ต่อสู้คว้าชัย) บนเกราะสำหรับออกรบเองก็มีสัญลักษณ์จันทร์เสี้ยวประดับ ดังนั้นเนเนะจึงมองว่ามิคาสึกินั้นเหมาะสมแล้วที่จะมอบให้กับชิกะโนะสึเกะ ทว่า ชิกะโนะสึเกะก็ส่งมิคาสึกิคืนให้แก่เนเนะ และก็ถูกลอบสังหารโดยที่ไม่สามารถฟื้นฟูตระกูลอามาโกะไดสำเร็จในปีเท็นโชที่ 6 (1578) และถ้าหากว่ามิคาสึกิถูกชิกะโนะสึเกะนำมาใช้ในการศึกจริงล่ะก็ แสดงว่าในช่วงนั้นถือเป็นยุคทองของทะจิซึ่งถูกจัดให้มีความสำคัญมากทีเดียว

นอกจากนี้ยังมีบางตำรากล่าวถึงว่า นาโอเอะ คาเนสึงุ ข้ารับใช้ตระกูลอุเอสึกิ ซึ่งรับใช้อุเอสึกิ คาเงคัตสึ มักจะพกดาบของนายช่างซันโจว มุเนจิกะไว้ข้างกายเสมอ แต่ไม่อาจระบุได้แน่ชัดว่าดาบเล่มนั้นคือมิคาสึกิมุเนจิกะหรือไม่ ทว่า ฮิเดโยชิประเมินความสามารถคาเนสึงุเอาไว้สูงมาก จึงลองนำทรัพย์สินมีค่ามอบให้ด้วยหวังจะดึงอีกฝ่ายมาเป็นพวก จึงมีความเป็นไปได้ว่าจะเคยมอบมิคาสึกิให้แก่คาเนสึงุด้วย ทว่าคาเนสึงุซึ่งมีความจงรักภักดีต่อนายจนน่าสรรเสริญได้ปฏิเสธการชักชวนของฮิเดโยชิอย่างไม่ใยดี จึงมิได้มีการมอบมิคาสึกิให้เพื่อรับขวัญข้ารับใช้ใหม่

ภายหลังการเสียชีวิตของฮิเดโยชิ เนเนะจึงได้รับสืบทอดมิคาสึกิมาจากสามีผู้ล่วงลับ และในปีคันเอย์ (1624) หลังจากที่เนเนะเสียชีวิต มิคาสึกิจึงได้ตกทอดมายังโชกุนรุ่นที่สองแห่งโทคุกาวะบาคุฟุ โทคุกาวะ ฮิเดทาดะ แล้วจึงตกทอดอยู่ในตระกูลโชกุนโทคุกาวะแห่งยุคเอโดะต่อมาอีกหลายชั่วอายุคน มิคาสึกิซึ่งมีความงดงามเป็นที่ต้องตาต้องใจของนักรบผู้เรื่องอำนาจหลายยุคสมัยนั้น ได้ถูกส่งต่อมาเรื่อยๆผ่านยุคสมัยแห่งความขัดแย้ง

หลังสงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลง มิคาสึกิเคยถูกถือครองเป็นสมบัติส่วนบุคคลของตระกูลหนึ่งก่อนที่จะถูกมอบให้แก่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติโตเกียวในปีเฮเซที่ 4 (1992) และถูกเก็บรักษาอยู่ ณ ที่แห่งนั้นเป็นต้นมา

6 thoughts on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Mikazuki Munechika

  1. กำลังหาไปแต่งฟิคอยู่พอดีค่ะ!!! ขอบคุณมากนะคะ ช่วยได้มากเลย >w<,,,

    • ยินดีค่า ดีใจที่ใช้ประโยชน์ได้นะคะ แต่งฟิกสู้ๆค่ะ! (แต่งเสร็จอย่าลืมมาแบ่งให้อ่านบ้างนะคะ 555+)

  2. ทำไมอ่านประวัติเเล้วมันฟิน~
    -//////-

Leave a comment