[Info] ประวัติดาบ: Tenka Goken

เท็งกะโกะเคน หรือห้าสุดยอดดาบแห่งญี่ปุ่น ประกอบด้วยดาบห้าเล่ม ได้แก่ โดจิกิริ ยาสุทสึนะ มิคาสึกิ มุเนะจิกะ โอนิมารุ คุนิทสึนะ จูซูมารุ ทสึเนะทสึกุ และโอเท็นตะ มิทสึโยะ ดาบทั้งห้าได้รับการยกย่องเป็นสุดยอดดาบแห่งญี่ปุ่นในช่วงยุคมุโรมาจิ (1392-1573) โดยสี่ในห้าเล่มของเท็งกะโกะเคน ได้แก่ โดจิกิริ ยาสุทสึนะ มิคาสึกิ มุเนะจิกะ โอนิมารุ คุนิทสึนะ และโอเทนตะ มิทสึโยะ เคยอยู่ที่ตระกูลอะชิคางะมาก่อน

ประวัติโดยสังเขป

1. โดจิกิริ ยาสุทสึนะ (童子切安綱)

ประเภทดาบ: ทาจิ
ความยาวส่วนใบดาบ: 80 cm
สำนัก: โฮคิ โอฮาระ
ยุค: เฮอัน (806-1184)
ปีที่ตี: –
สถานที่ปัจจุบัน: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียว
สถานะ: สมบัติแห่งชาติ (Kokuho)

เรื่องของโดจิกิริ ยาสุทสึนะเกี่ยวข้องกับตำนานปราบปีศาจชูเทนโดจิ (ชูเทนโดจิโมโนกาตาริ) ซึ่งอาจเป็นเรื่องจริงที่ได้ผ่านการแปรสภาพใส่สีตีไข่หลายขนานจนกลายมาเป็นตำนานดังกล่าว จุดเริ่มต้นของตำนานไม่แน่ชัด หากแต่ว่ากันว่า ช่วงกลางศตวรรษที่ 11 (สมัยเฮอัน) พวกโจรภูเขาชุกชุมแถวเส้นทางไปยังเกียวโต ปีศาจหัวขโมยชูเทนโดจิและลูกสมุนก่อความเดือดร้อนไปทั่วแถบภูเขาโอเอยามะในจังหวัดทันบะทางเหนือของเกยีวโต ทั้งปล้นฆ่าและลักพาผู้หญิง จนกระทั่งเรื่องไปถึงหูองค์จักพรรดิ พระองค์จึงได้มีบัญชาให้มินาโมโตะ โนะ โยริมิทสึ (948-1021) ซึ่งเคยแก้ปัญหาหัวขโมย กบฎและพวกอันธพาลมาก่อนไปจัดการ โยริมิทสึจึงพาสี่ขุนพล (ชิเทนโน) ของตน อันประกอบด้วย ซาคาตะ โนะ คินโทคิ วาตานาเบะ โนะ ทสึนะ อุราเบะ โนะ สุเอะทาเคะ และอุซุย ซาดามิทสึไปยังภูเขาโอเอยามะ ระหว่างทางฟุจิวาระ โนะ ยาสุมาสะได้เข้ามารวมกลุ่มด้วย และทั้งหกก็เดินทางไปยังเขตภูเขาโดยปลอมเป็นพระ ระหว่างทางได้พบชายชราสามคนที่แท้จริงแล้วเป็นเทพในศาสนาชินโต และได้มอบของวิเศษสามอย่าง คือ เชือก หมวกเกราะ และเหล้าที่ทำให้สลบไสล เมื่อไปถึงยอดเขา ชูเทนโดจิจัดอาหารมื้อใหญ่ให้คนทั้งหกรับประทาน อาหารทำจากเลือดและเนื้อของมนุษย์ เพื่อไม่ให้ฝ่ายชูเทนโดจิไหวตัว คนทั้งหกต้องยอมทนกินอาหารที่ชูเทนโดจิเลี้ยง หลังมื้ออาหาร โยริมิทสึก็เสนอเหล้าให้กับชูเทนโดจิและลูกสมุน

ทันทีที่พวกชูเทนโดจิสลบไสลเพราะฤทธิ์สุรา พวกของโยริมิทสึก็จับพวกมันมัดและร่วมกันสังหารทิ้ง เมื่อโยริมิทสึตัดหัวของชูเทนโดจิ หัวของมันก็ลอยมาพยายามกัดหัวของโยริมิทสึ ทว่าหมวกเกราะวิเศษก็ป้องกันโยริมิทสึเอาไว้ได้ และดาบที่โยริมิทสึใช้สังหารชูเทนโดจิก็ได้ชื่อว่า โดจิกิริ และทุกวันนี้เป็นสมบัติชาติญี่ปุ่นจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียว

เอกสารที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับนามกร “โดจิกิริ ยาสุทสึนะ” มีอยู่ในหนังสือเกี่ยวกับดาบที่เก่าแก่ที่สุดอย่าง “โนอามิฮงเมย์สึคุชิ” ซึ่งกล่าวว่าครั้งหนึ่งซาคาโนะอุเอะ ทามุระมาโระ (758-811) เคยมอบดาบให้กับศาลเจ้าแห่งอิเสะ และโยริมิทสึก็ฝันว่าตนได้รับอนุญาตให้ใช้ดาบเล่มนี้ในการฆ่าชูเทนโดจิโดยเฉพาะ ดาบมีลายเซ็นของช่างยาสุทสึนะ แห่งจังหวัดโฮกิ ที่ทุกบันทึกกล่าวตรงกันว่าทำงานอยู่ในสมัยไดโด (806-810) ทว่าลักษณะงานกลับบอกว่าตัวดาบน่าจะเป็นผลงานสมัยต้นศตวรรษที่ 11 ซึ่งตรงกับสมัยของโยริมิทสึ หากแต่ไม่ตรงกับช่วงปีที่ซาคาโนะอุเอะมีชีวิต ดังนั้นเรื่องที่กล่าวว่าโยริมิทสึฝันว่าได้รับอนุญาตให้ใช้ดาบจึงไม่น่าจะเป็นเรื่องจริง

ที่ที่ดาบอยู่หลังจากที่โยริมิทสึฆ่าชูเทนโดจิเองก็ไม่ปรากฎแน่ชัด บ้างว่ายาสุทสึนะได้มอบดาบเล่มนี้ให้กับวังมังกรและโยนดาบลงไปในทะเล ทว่าดาบกลับถูกปลาวาฬกลืนเข้าไป หลายร้อยปีต่อมา ดาบถูกพบในท้องปลาวาฬและไม่มีแม้แต่ร่องรอยใดๆของสนิม สองสามร้อยปีต่อจากนั้น ดาบได้มาอยู่กับนิตตะ โยชิซาดะ (1301-1338) ขุนพลสมัยนันโบคุโจผู้ซื่อสัตย์ต่อราชวงศ์ใต้ ระหว่างเดินทางไปต่อกรกับคามาคุระ เขาถูกขัดขวางด้วยเหตุน้ำท่วมที่อินะมุระงะซาคิ ซึ่งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของคามาคุระ เพื่อให้เดินทางได้รวดเร็วขึ้น เขาจึงได้มอบดาบอันเป็นที่รักให้กับทะเลเพื่อให้ดาบกลับไปยังวังมังกร หลังจากนั้นน้ำก็ลดอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายโยชิซาดะก็ตีคามาคุระได้

เป็นไปได้มากว่าผู้บันทึกเกิดสับสนโดจิกิริกับดาบที่ชื่อ “โอนิคิริ” ซึ่งนิตตะ โยชิซาดะเป็นเจ้าของ อีกเรื่องหนึ่งกล่าวว่าโดจิกิริเป็นของสืบทอดกันในตระกูลเซ็ททสึซึ่งเป็นที่ปรึกษาของบาคุฟุมุโรมาจิ ตระกูลเซ็ททสึสืบเชื้อสายมากจากมินาโมโตะ โนะ โยริมิทสึ ดังนั้นเรื่องที่ว่าตระกูลอะชิคางะ เจ้านายของตระกูลเซ็ททสึในเวลาต่อมา ได้มอบดาบให้กับโอดะ โนบุนากะ (1534-1582) จึงมีความเป็นไปได้ จากโอดะ โนบุนากะดาบได้ไปอยู่กับโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (1537-1598) ซึ่งสั่งให้ฮงนามิ โคโตคุวาดรูปและจัดทำรายการดาบในสะสมของโทโยโทมิ ทว่าหนังสือโคโตคุคาทานะเอสึที่จัดทำออกมา กลับมีภาพของดาบโดยยาสุทสึนะอีกเล่มที่ไม่ใช่โดจิกิริซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียวในปัจจุบัน

อีกเรื่องว่ากันว่าฮิเดยาสึ (1574-1607) บุตรคนที่สองของอิเอยาสึได้รับดาบยาสุทสึนะหลังจากยูคิ ฮารุโมโตะ (1534-1614) รับเขาเป็นบุตรบุญธรรม ซึ่งดาบเล่มนี้เป็นดาบที่สืบทอดกันมาในตระกูลยูคิ หลักฐานบนปลอกดาบสลักชื่อโดจิกิริและสัดส่วนของดาบเอาไว้ แต่คาดว่าถูกสลักโดยคัทสึฮิเมะ ภรรยาของทาดานาโอะ (1596-1650) ผู้เป็นลูกของฮิเดยาสึ หลังจากทาดานาโอะถูกเนรเทศไปฮากิวาระ ดาบก็ตกทอดถึงมัทสึไดระ มิทสึนากะผู้เป็นทายาท ว่ากันว่ามิทสึนากะฝันร้ายและตื่นมาร้องไห้ทุกคืน ข้ารับใช้ผู้หนึ่งจึงเสนอให้เอาโดจิกิริไปวางข้างหมอน ในทีแรกไม่มีคนเชื่อ แต่ในที่สุดก็ได้ทดลองทำ หลังจากนั้นมิทสึนากะก็ไม่ฝันร้ายอีก เมื่อเรื่องแพร่ออกไป คนก็เชื่อกันว่าโดจิกิริถูกสิงสู่โดยวิญญาณจิ้งจอก ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ที่รู้จักกันดีในชื่อ “คิทสึเนะทสึคิ” เมื่อมิทสึนากะโตขึ้น เขาเข้ารับราชการและมีปัญหาเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบในเอจิโกะจึงถูกเนรเทศไปเกาะชิโกะกุเจ็ดปี ระหว่างนั้นไม่มีผู้ใดดูแลสมบัติ โดจิกิริจึงถูกสนิมเกาะ

เมื่อมิทสึนากะกลับมาเอโดะจึงไปหาตระกูลโฮนามิเพื่อขัดดาบเสียใหม่ แต่ระหว่างทางกลับพบฝูงจิ้งจอกเป็นจำนวนมากระหว่างเขตคันดะและยานากะ ว่ากันว่าพวกจิ้งจอกมาช่วยรักษาความปลอดภัยของดาบโดจิกิริ หลังจากนั้นเองก็เกิดเหตุทำนองเดียวกัน เมื่อไฟไหม้บริเวณละแวกบ้านโฮนามิ มีสุนัขจิ้งจอกสีขาวตัวใหญ่โหยหวนอยู่เหนือหลังคาบ้านโฮนามิราวกับเจ็บปวดอย่างสาหัส ทำให้สมาชิกคนหนึ่งของบ้านนึกได้ว่าโดจิกิริยังอยู่ในโรงลับดาบ ทำให้ดาบรอดพ้นภัยมาได้

ในการทดสอบความคมโดยผู้ทดสอบมาจิดะ โชดะยุในปีเก็นโรคุที่สิบ (1697) โดจิกิริมีสถิติการทดสอบความคมสูงสุดในดาบทั้งหมดที่เคยทดสอบมา คือตัดศพอาชญากรได้หกศพและยังฟันตัดลงไปจนถึงพื้นเบื้องล่าง ทว่ามีความเป็นไปได้ว่าแม้ดาบจะมีความคมมาก แต่อาจเป็นการกล่าวเกินจริงไปสักหน่อย เนื่องจากในเหตุเพลิงไหม้เมเรคิที่ทำลายกรุงเอโดะครั้งใหญ่ในปี 1657 โดจิกิริไม่รอดพ้นเปลวไฟ และต้องถูกตีขึ้นใหม่ ดาบที่ถูกตีซ้ำหลังจากสี่สิบปีถัดมามักจะมีความคมไม่เท่าเก่า อย่างไรก็ดี สภาพดาบที่เห็นในปัจจุบันไม่มีร่องรอยว่าเคยถูกตีซ้ำ ปัจจุบันโดจิกิริถูกเก็บรักษาเอาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียว และมีเครื่องทรงทาจิโคชิราเอะจากยุคโมโมยามะ

2. มิคาสึกิ มุเนะจิกะ (三日月宗近)

ประเภทดาบ: ทาจิ
ความยาวส่วนใบดาบ: 80 cm
สำนัก: ซันโจ
ยุค: เฮอัน (806-1184)
ปีที่ตี: –
สถานที่ปัจจุบัน: พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียว
สถานะ: สมบัติแห่งชาติ (Kokuho)

ดาบเล่มที่มีชื่อเสียงที่สุดของซันโจ มุเนะจิกะคือ “มิคาสึกิ มุเนะจิกะ” นามของดาบได้มาจากลายจันทร์เสี้ยว (มิคาสึกิ) จากองค์ประกอบทางอุณหภูมิที่ปรากฎคู่กับลายฮามอนที่ช่วงล่างของดาบ มิคาสึกิได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติแห่งชาติในปี 1951 และปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงโตเกียว ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าดาบเคยอยู่กับผู้ใดมาก่อนจนกระทั่งมาถึงตระกูลอะชิคางะ กล่าวกันว่ามัทสึนากะ ฮิซาฮิเดะและพันธมิตรตระกูลของมิโยชิเข้าโจมตีปราสาทนิโจในปีเอโรคุที่แปด (1565) โชกุนอะชิคางะในสมัยนั้น อะชิคางะ โยชิเทรุต่อสู้ด้วยมิคาสึกิจนกระทั่งตัวตาย

เรื่องการเสียชีวิตของโยชิเทรุในเหตุการณ์เอโรคุมีเล่าแตกต่างกันไปหลายขนาน ว่ากันว่าอะชิคางะ โยชิเทรุเป็นนักดาบมีฝีมือที่เป็นศิษย์สำนักโบคุเด็น และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญและนักสะสมดาบตัวยง เมื่อพลทหารของพวกมิโยชิซึ่งมีทั้งพลปืนและพลหอกรวมอยู่ด้วยได้บุกเข้าโจมตีปราสาทนิโจในกลางดึก เรื่องเล่าหนึ่งกล่าวว่า โยชิเทรุถูกไล่ต้อนไปจนถึงคลังสะสมดาบและจำต้องหยิบดาบล้ำค่าออกมาใช้ทีละเล่มเพื่อทำการต่อสู้ ดาบพังทลายไปทีละเล่มจนกระทั่งถึงมิคาสึกิซึ่งเป็นดาบเล่มสุดท้ายที่ยังคงอยู่ในมือตอนที่โยชิเทรุสิ้นลม บ้างว่า เหล่าทหารฝ่ายมิโยชิไม่กล้าเข้าใกล้โยชิเทรุที่ถือมิคาสึกิ จึงใช้เสื่อตาตามิเป็นโล่และรุมแทงโยชิเทรุจนสิ้นชีวิต และบ้างก็ว่า โยชิเทรุถูกหอกแทงเข้าที่ขาและไม่สามารถต่อสู้ต่อไปได้ จึงได้คลานไปห้องสุดท้ายเพื่อทำการเซปปุกุปลิดชีวิตตนเอง

อย่างไรก็ดี หลังจากการโจมตีที่เรียกกันว่า “เหตุการณ์เอโรคุ” (เอโรคุ โนะ เฮน) สมบัติของตระกูลอะชิคางะรวมทั้งดาบมิคาสึกิก็ถูกมิโยชิ มาซายาสึ (1528-1615) นำเอาไป ก่อนมาซายาสึจะเสนอมอบดาบให้กับฮิเดโยชิซึ่งได้ส่งมอบดาบให้กับ เนเนะ ภริยาเอกผู้เป็นซามูไรอีกทีหนึ่ง หลังจากเนเนะเสียชีวิต (ในตอนนั้นเนเนะเป็นแม่ชีที่ใช้นามว่า โคดะอิน) ในปี 1624 มิคาสึกิก็ได้ถูกส่งมอบให้กับโชกุนโทคุกาวะ ฮิเดทาดะ และอยู่ที่ตระกูลโทคุกาวะจนกระทั่งหมดยุคศักดินา

3. โอนิมารุ คุนิทสึนะ (鬼丸國綱)

ประเภทดาบ: ทาจิ
ความยาวส่วนใบดาบ: 79.2 cm
สำนัก: อะวะตะกุจิ
ยุค: คามาคุระ (1184-1336)
ปีที่ตี: –
สถานที่ปัจจุบัน: คลังสมบัติจักรพรรดิ
สถานะ: สมบัติจักรพรรดิ (Gyobutsu)

ครั้งหนึ่ง โฮโจ โทคิโยริ (1227-1263) ผู้สำเร็จราชการในนามมินาโมโตะ เชิญช่างตีดาบมีฝีมือหลายนายมายังคามาคุระเพื่อให้เหล่าช่างตีดาบให้กับบาคุฟุอย่างเป็นทางการ หนึ่งในช่างตีดาบที่มาคือคุนิทสึนะแห่งสำนักอะวะตะกุจิ วันหนึ่งโทคิโยริเกิดป่วยด้วย “โรค” ประหลาด ปีศาจตัวเล็กๆปรากฎตัวขึ้นทุกคืนในห้องนอนของเขา เขาฝันว่ามีชายชราคนหนึ่งมาบอกกับตนว่า “ข้าคือดาบของคุนิทสึนะ มีผู้แตะต้องข้าด้วยมืออันไม่สะอาด และตอนนี้ข้าก็ถูกชักออกจากฝักมิได้เพราะสนิมเขรอะไปหมด หากต้องการกำจัดปีศาจตนนี้ จงปลดปล่อยข้าจากสนิมที่เกาะกินเสีย” เช้าวันต่อมา โทคิโยริทำความสะอาดดาบและเก็บกลับไปไว้บนหิ้ง และราวกับมีเวทมนตร์ ดาบก็ตกลงมา หลุดออกจากฝักและฟันขาของเตาเผาถ่านขาดสะบั้น ขาเตานี้ทำด้วยเงินและมีรูปร่างเหมือนปีศาจ หลังจากวันนั้นโทคิโยริก็ไม่เคยถูกรบกวนด้วยปีศาจตนนั้นอีกเลย เขาจึงตั้งชื่อดาบเล่มนั้นว่า โอนิมารุ

โอนิมารุเป็นดาบสมบัติของตระกูลโฮโจ ตอนที่ทาคาโทคิ (1303-1333) หลานของโทคิโยริกระทำการเซปปุกุหลังทัพของนิตตะ โยชิซาดะ (1301-1338) ปิดล้อมคามาคุระ ดาบได้ถูกโยชิซาดะนำไป หลังจากนั้นไม่กี่ปีโยชิซาดะพ่ายแพ้อย่างหมดรูปในสงครามแบ่งแยกราชวงศ์เหนือใต้ ว่ากันว่าเขาฆ่าตัวตายในปราสาทฟุจิชิมะ (จังหวัดเอจิเซ็น) ที่ถูกปิดล้อมโดยการตัดหัวตัวเอง ไม่ว่าเรื่องนี้จะเป็นจริงหรือไม่ ผู้มีส่วนในการตายของเขาคือชิบะ ทาคาทสึเนะ (1305-1367) ซึ่งนำดาบเล่มดังกล่าวไปมอบให้กับอะชิคางะ ทาคาอุจิในเกียวโตพร้อมกับหัวของโยชิซาดะเพื่อยืนยันความตายของโยชิซาดะ

4. จูซูมารุ ทสึเนะทสึกุ (数珠丸恒次)

ประเภทดาบ: ทาจิ
ความยาวส่วนใบดาบ: 81 cm
สำนัก: โค-อาโอเอะ
ยุค: คามาคุระ (1184-1336)
ปีที่ตี: 1261- 1264
สถานที่ปัจจุบัน: วัดฮงโก
สถานะ: สมบัติแห่งชาติ (Kokuho), สมบัติทางวัฒนธรรม (Juuyou Bunkazai)

จูซูมารุถูกตีขึ้นโดยช่างทสึเนะทสึกุ ดาบเล่มนี้เคยเป็นสมบัติพระนักปฏิวัติพระพุทธศาสนาผู้โด่งดังนาม นิจิเร็น (1222-1282) ปีบุนเอที่หก (1274) นิจิเร็นกลับจากเกาะซาโดะที่ซึ่งเขาถูกบาคุฟุเนรเทศมายังคามาคุระ นันบุ ซาเนนากะ (1222-1297) ได้เชิญเขาไปที่ตำบลฮาคิอิในจังหวัดไคที่ตนเองดูแลอยู่ และอนุญาตให้นิจิเร็นใช้พื้นที่ภูเขามิโนบุตั้งอาศรม อาศรมนี้ภายหลังได้กลายเป็นวัดคุอง (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยามานาชิ) ซึ่งที่แห่งนี้เป็นที่ตั้งหลุมศพของนิจิเร็นด้วย ซาเนนากะเป็นผู้อุปถัมป์คนหนึ่งที่สำคัญของนิจิเร็น และวัดคุองในภายหลัง เขาได้มอบดาบจูซูมารุให้กับนิจิเร็นเพื่อใช้ป้องกันตัว สำหรับนิจิเร็นแล้ว เขาเห็นดาบเล่มนี้เป็นสัญลักษณ์ของ “การทำลายความผิดพลาดและการสร้างความถูกต้อง” (ฮาจาเคนโช โนะ ทสึรุกิ) จึงได้แขวนลูกประคำ (จูซู) เอาไว้ที่ด้ามดาบ ดาบเล่มนี้จึงได้ชื่อว่า จูซูมารุ ทสึเนะทสึกุ

บันทึกเคียวโฮเมย์บุทสึโชเอ่ยถึงประวัติดาบเล่มนี้ แต่เป็นที่รู้กันว่าในช่วงที่เคียวโฮเมย์บุทสึโชถูกจัดทำขึ้น (1716-1737) ของอนุสรณ์ของนิจิเร็นอันประกอบด้วยสามสิ่ง ได้แก่ ผ้าสไบพระ (เคสะ) พัดพิธี (ชูเคย์) และดาบจูซูมารุ ก็มิได้อยู่ที่วัดคุองแล้ว สองร้อยปีต่อมา เดือนตุลาคม ปี 1920 สุกิฮาระ โชโซผู้เชี่ยวชาญด้านดาบผู้โด่งดังได้ค้นพบดาบจูซูมารุอีกครั้งที่งานประมูลขายสมบัติสะสมของขุนนางผู้หนึ่ง ด้วยความกลัวว่าดาบจะจากญี่ปุ่นไปอย่างไม่หวนกลับ โชโซใช้เงินจำนวนมากประมูลจูซูมารุ และได้สร้างเสียงฮือฮาด้วยการเชิญชวนให้สำนักหนังสือพิมพ์ทั้งหมดเขียนข่าวเกี่ยวกับการค้นพบจูซูมารุอีกครั้ง หนึ่งปีต่อมา จูซูมารุได้เป็นสมบัติแห่งชาติญี่ปุ่น โชโซยังพยายามคืนดาบไปที่วัดคุอง แต่ติดปัญหาที่ว่าตัววัดไม่สามารถระดมทุนจ่ายค่าดาบได้ หลังจากเจรจาไม่สำเร็จหลายครั้ง โชโซจึงได้มอบดาบให้กับวัดฮงโก วัดใกล้เมืองอะมะงะซากิซึ่งเป็นบ้านเกิดของตน ในเขตเฮียวโกและอยู่ที่นั่นมาจนถึงปัจจุบัน

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทสึเนะทสึกุผู้ใดเป็นผู้ตีดาบ เชื่อกันว่าเป็นทสึเนะทสึกุแห่งสำนักโค-อาโอเอะที่ทำงานอยู่ในสมัยโชเก็น (1207-1211) แต่ลักษณะดาบและลายเซ็นมีความแตกต่างจากลักษณะทั่วไปของสำนักโค-อาโอเอะ ผู้เชี่ยวชาญบางท่านเชื่อว่าอาจเป็นงานของทสึเนะทสึกุแห่งสำนักโคบิเซ็นที่ทำงานในสมัยเก็นเรียคุ (1184-1185)

5. โอเทนตะ มิทสึโยะ (大典太光世)

ประเภทดาบ: ทาจิ
ความยาวส่วนใบดาบ: 66.1 cm
สำนัก: –
ยุค: เฮอัน (806-1184)
ปีที่ตี: –
สถานที่ปัจจุบัน: มาเอดะ อิคุโทคุไค กรุงโตเกียว
สถานะ: สมบัติแห่งชาติ (Kokuho)

ชื่อโอเทนตะ (เทนตะผู้ยิ่งใหญ่) มาจากนามของช่างตี ซึ่งในเอกสารเก่าและบันทึกเมย์คันเขียนแตกต่างกันออกไป ทำให้บางครั้งการเขียนชื่อดาบแตกต่างกันไปด้วย เช่น ในบันทึกของตระกูลมาเอดะกับในเคียวโฮเมย์บุทสึโชก็ใช้ตัวสะกดที่ต่างออกไปจากหนังสือรับรองการเป็นสมบัติแห่งชาติ พอทราบว่าช่างมิทสึโยะรุ่นแรกทำงานในสมัยโชโฮ (1074-1077) จนกระทั่งกลางยุคมุโรมาจิก็มีช่างที่มีชื่อ “มิทสึโยะ” เป็นจำนวนมาก แต่งานปลายสมัยเฮอันไม่สอดคล้องกับงานช่วงแรกเริ่มของมิทสึโยะ เป็นไปได้ว่าช่างรุ่นแรกทำงาน 80-100 ปีหลังจากช่วงนั้นเพราะในช่วงสงครามเกมเปมีความต้องการใช้อาวุธเป็นจำนวนมาก เนื่องจากมีช่างมิทสึโยะเป็นจำนวนมากที่ทำงานในช่วงหลายร้อยปีนั้น ทำให้ตระกูลมาเอดะเลือกใช้นาม “โอเทนตะ” ที่สื่อถึงช่างระดับตำนานในยุคเริ่มต้นของสายดาบมิทสึโยะ ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเรื่องชื่อว่ากันว่า มาจากที่ตระกูลมาเอดะมีดาบเล่มที่สั้นกว่าอีกเล่มที่เรียกว่า โคเทนตะ (เทนตะเล็ก) แต่ดาบเล่มดังกล่าวไม่เคยถูกพบในบันทึกใดๆของตระกูลมาเอดะ

โอเทนตะ มิทสึโยะเป็นสมบัติของตระกูลอะชิคางะก่อนจะผ่านมาถึงมือของโทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ในปีบุนโรคุที่สี่ (1595) ฮิเดโยชิเรียกประชุมสำคัญที่ปราสาทฟุชิมิใกล้เกียวโต ไม่ปรากฎแน่ชัดว่าเป็นการประชุมเรื่องใด อาจเป็นเรื่องหลานชายฮิเดสึกุ (1568-1595) ที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ หรือแผนรุกรานเกาหลีครั้งที่สองที่ต้องถูกพับไปในสองปีต่อมาเนื่องจากการเสียชีวิตของฮิเดโยชิ อย่างไรก็ดี เหล่าองค์ประชุมที่ประกอบด้วยขุนพลใหญ่ อาทิเช่น มาเอดะ โทชิเอะ (1537-1599) คาโต้ คิโยมาสะ (1562-1611) และคุโรดะ นากามาสะ (1568-1623) ต้องเตรียมตัวอยู่ประชุมโต้รุ่ง (โยโทงิ) เพื่อปกป้องฮิเดโยชิ และต่างก็พากันเริ่มเล่าเรื่องสยองขวัญ​

เรื่องสยองหนึ่งเล่าถึงข้ารับใช้ผู้หนึ่งของฮิเดโยชิที่จะเดินจากระเบียงไปยังห้องโถงใหญ่ในยามราตรี แต่กลับถูกคนคว้าปลายฝักดาบเอาไว้  ทำให้ไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้แม้แต่ก้าวเดียว และจำเป็นต้องย้อนกลับไปทางเก่า ผู้อาวุโสที่สุดในกลุ่ม มาเอดะ โทชิอิเอะยืนขึ้นและกล่าวว่าเรื่องเล่าเป็นเรื่องเหลวไหลที่แต่งขึ้นเพื่อเป็นคำแก้ตัวในความขี้ขลาด จึงถูกคนอื่นๆท้าทายให้ทดสอบเรื่องดังกล่าวดู โทชิอิเอะรับคำโดยจะวางพัดของคาโต้ คิโยมาสะไว้ที่สุดทางระเบียงเพื่อเป็นหลักฐานว่าได้เดินไปแล้ว แต่เรื่องทดสอบความกล้านี้กลายเป็นเรื่องที่พูดกันปากต่อปากจนไปถึงหูของฮิเดโยชิ ฮิเดโยชิจึงเรียกตัวโทชิอิเอะเข้าพบ “มาตาสะ*น้อยเอ๋ย หากเจ้าจะทำเช่นนั้นจริงแล้ว จงพกดาบเล่มนี้ไปด้วย” ฮิเดโยชิเอ่ยด้วยรอยยิ้ม พร้อมกับยื่นโอเทนตะ มิทสึโยะให้ ดาบเล่มนี้ราวกับมีพลังรี้ลับช่วยคุ้มภัย โทชิอิเอะจึงสามารถนำพัดไปวางที่สุดทางได้อย่างปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นเพราะเรื่องเล่าเป็นเพียงเรื่องงมงายไร้สาระหรือดาบมีพลังอำนาจคุ้มภัยจริง คาโต้ คิโยมาสะก็ประทับใจในความกล้าของโทชิอิเอะเป็นอย่างมาก และดาบโอเทนตะก็ได้มาอยู่ที่ตระกูลมาเอดะ

ในเคียวโฮเมย์บุทสึโชกล่าวถึงตำนานอีกแขนงหนึ่งที่ว่าดาบจากฮิเดโยชิมาอยู่ที่ตระกูลมาเอดะได้อย่างไร มาเอดะ โก (1574-1634) ลูกสาวคนที่สี่ของมาเอดะ โทชิอิเอะมีสุขภาพไม่ดีมาตลอด ทว่าตอนที่เธอกำลังจะแต่งงานกับอุคิตะ ฮิเดอิเอะ (1572-1655) ไดเมียวตระกูลบิเซ็นและสมาชิกของกลุ่มห้าอาวุโส (โกะไทโร) ของฮิเดโยชิ เธอก็ป่วยอย่างหนักด้วยโรคประหลาด ฮิเดโยชิคิดว่าเธอถูกสาปและเข้ามาช่วยเหลือโดยให้โทชิอิเอะยืมโอเทนตะ มิทสึโยะมาเพื่อใช้ป้องกันอำนาจชั่วร้าย โดยวางดาบเอาไว้ใกล้หมอนของลูกสาว โทชิอิเอะรับมาด้วยความทราบซึ้ง และไม่นาน อาการป่วยของโกก็หาย โทชิอิเอะคืนดาบให้กับฮิเดโยชิไป แต่แล้วโกก็เกิดป่วยขึ้นมาอีก ทำให้ฮิเดโยชิต้องให้ยืมดาบมาอีกครั้ง เรื่องเกิดซ้ำกันเช่นนี้ถึงสามครั้ง จนฮิเดโยชิเป็นฝ่ายเสนอให้ตระกูลมาเอดะเก็บดาบไว้ หลังจากนั้นกล่าวกันว่าโทชิอิเอะใช้ข้ออ้างเรื่องความเจ็บป่วยของลูกสาวในการให้ได้มาซึ่งดาบโอเทนตะ มิทสึโยะ

ทว่า ในบันทึกตระกูลมาเอดะได้กล่าวว่า ดาบถูกส่งต่อจากฮิเดโยชิไปยังอิเอยาสึก่อนจะถูกส่งให้กับฮิเดทาดะ ลูกชายของอิเอยาสึ ฮิเดทาดะรับลูกสาวคนโตของมาเอดะ โทชิทสึเนะ** นามคาเมทสึรุ เป็นลูกบุญธรรม และตอนที่เธอป่วยจนไม่มีหนทางเยียวยา ฮิเดทาดะจึงให้ยืมโอเทนตะ มิทสึโยะมา และเรื่องราวก็เป็นเช่นเดียวกับเรื่องข้างบนจนกระทั่งดาบมาอยู่ที่ตระกูลมาเอดะ

*มาตาสะ หรือ มาตาซาเอมอน เป็นชื่อสมัยเด็กของโทชิเอะ แม้ว่าความจริงแล้ว ฮิเดโยชิจะอายุมากกว่าโทชิเอะเพียงแค่ปีเดียว แต่ทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเด็ก

**โทชิทสึเนะเป็นบุตรชายคนที่สี่ของโทชิอิเอะ

ข้อมูลจากหนังสือ: 
Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword. Norderstedt: Book on Demand GmbH.
Turnbull, S. (2011) Katana : The Samurai Sword (Weapon). Oxford: Osprey Pub Co (US).

เกร็ดเพิ่มเติมเวบไซต์:
www.samurai-jpn.com/5famousswords_en.html
nihontoclub.com/category/categories/five-great-swords-japan

3 thoughts on “[Info] ประวัติดาบ: Tenka Goken

  1. Reblogged this on kaikaizt and commented:
    ชอบที่พี่ฮิยูระแปลและเรียบเรียงเรื่องดาบมากเลย ขออนุญาตรีเก็บไว้รัวๆนะคะ ฮืออ

Leave a comment