[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Yamanbagiri Kunihiro

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2011). Legends and Stories around the Japanese Sword, pp.105-111. Norderstedt: Book on Demand GmbH.

หมายเหตุ: ประวัติฉบับนี้ได้เล่าว่า ยามัมบะกิริ คุนิฮิโระเป็นดาบเล่มที่จินซาเอมอนใช้ปราบแม่มดยามัมบะ โดยดาบต้นแบบคือดาบที่ตีโดยโชงิซึ่งเป็นศิษย์ของมาซามุเนะ ซึ่งต่างกับในเกมที่ยามัมบะกิริ คุนิฮิโระกล่าวว่าตัวเองเป็นดาบเลียนแบบดาบยามัมบะกิริอีกที ซึ่งในส่วนของเรื่องเล่าตรงนี้ ทางผู้แปลจะทำการตรวจสอบกับหนังสืออ้างอิงฉบับภาษาญี่ปุ่นอีกทีหนึ่ง

Edit: จากการตรวจสอบข้อมูลจากหนังสือภาษาญี่ปุ่นอีกสองเล่ม คือ 物語で読む日本刀の刀剣150และ Nihontou to Bushi – sono shirarezaru odoroki no jinsei พบว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับการฆ่าแม่มดยามัมบะมีแตกออกเป็นสองแขนง คือ

1. ดาบที่ตีโดยโชงิได้ถูกนำไปใช้ฆ่าแม่มดยามัมบะ จึงได้ชื่อว่ายามัมบะกิริ และยามัมบะกิริ คุนิฮิโระเป็นของเลียนแบบ
2. เรื่องราวเป็นดังประวัติที่ผู้แปลได้แปลว่าด้านล่าง ซึ่งดาบที่ตีโดยโชงิไม่ได้มีชื่อว่ายามัมบะกิริ ส่วนดาบเลียนแบบดาบของโชงิได้นำไปใช้ฆ่าแม่มดยามัมบะ จึงได้ชื่อว่า ยามัมบะกิริ คุนิฮิโระ

ทั้งนี้ เนื่องจากตัวเกมเน้นประวัติที่น่าสนใจของดาบแต่ละเล่ม (เช่นประวัติทสึรุมารุที่ความจริงแล้วเรื่องเหตุการณ์ชิโมทสึกิไม่ตรงกับปีที่อาดาจิตาย) รวมไปถึงข้อมูลที่น่าสนใจในการสร้างคาแรกเตอร์ จึงสันนิษฐานว่าตัวเกมอ้างอิงคาแรกเตอร์ยามัมบะจากข้อมูลในแบบแรก

Yamanbagiri Kunihiro

เรื่องต่อไปนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากช่างตีดาบนามคุนิฮิโระซึ่งในเวลาต่อมาเป็นผู้สถาปนาโรงเรียนตีดาบสายโฮริคาวะที่ประสบความสำเร็จในเขตโฮริคาวะที่เกียวโต และได้กลายมาเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งสายดาบ “ชินโต*” หรือ “ดาบใหม่” คุนิฮิโระ หรือชื่อสามัญ ทานากะ คินทาโร่ (1531?-1614) ไม่ได้เป็นเพียงช่างตีดาบแต่ยังเป็นซามูไรรับใช้ตระกูลอิโตซึ่งปกครองมณฑลฮิวงะที่คิวชู หลังจากตระกูลอิโตล่มสลายในปี 1577 คุนิฮิโระออกเดินทางในฐานะช่างตีดาบผ่านหลายจังหวัดในคิวชู จนกระทั่งไปปรากฎตัวที่โรงเรียนอะชิคางะอันโด่งดังในจังหวัดชิโมทสึเคะในปีเทนโชที่ 18 (1590) ตามบันทึกแล้ว โรงเรียนอะชิคางะมีมาตั้งแต่ต้นยุคเฮอันและด้วยจำนนวนนักเรียนมากกว่า 3000 คนในปลายยุคมุโรมาจิ ถือเป็นสถานศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ทว่า ด้วยเหตุผลใดจึงทำให้คุนิฮิโระเดินทางจากคิวชูมายังเขตคันโตตะวันออก ว่ากันว่าเขาหาที่หลบภัยจากความวุ่นวายที่ยังไม่สงบที่คิวชู นอกจากนี้ พระในพระพุทธศาสนานามโซกิน ผู้ดำรงตำแหน่งผู้นำของสถานศึกษาในขณะนั้นยังมาจากเขตอิโตอีกด้วย โซกินได้เข้ามาบริหารโรงเรียนในปี 1579 และเป็นไปได้ว่าทั้งคู่น่าจะรู้จักกันอยู่ก่อนตั้งแต่สมัยยังอยู่ที่คิวชู

ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอะชิคางะอยู่ภายใต้การปกครองของนางาโอะ อะคินางะ** (1556-1621) บริพารของตระกูลโอดะวะระ ตระกูลสาขาของตระกูลโฮโจ ซึ่งเป็นนายแห่งปราสาททาเทบายาชิในขณะนั้น ทว่าความห้าวหาญและแสนยานุภาพการทหารของนางาโอะเป็นเหมือนขวากหนามสำหรับโฮโจ อุจิมาสะ (1538-1590) ผู้นำตระกูลโฮโจและนายเหนือแห่งปราสาทโอดะวะระในขณะนั้น โฮโจพยายามกำจัดนางาโอะโดยกล่าวหาว่านางาโอะกระด้างกระเดื่องต่อโฮโจ และมอบทหาร 20,000 นายให้กับน้องชาย อุจิทาดะ (?-1593) และหลานชายอุจิคัทสึ (1559-1611) พร้อมคำสั่งให้ยึดปราสาททาเทบายาชิคืน ข่าวการรวบรวมกองกำลังดังกล่าวแพร่กระจายออกไปราวไฟป่าในกลุ่มผู้อาศัยในเขตอะชิคางะ เนื่องจากความคิดที่ว่าหากโฮโจสามารถยึดปราสาทได้ พวกเขาคงไม่หยุดและหวังครอบครองทั้งเขตเป็นแน่แท้ จึงได้เกิดการเกณฑ์ไพร่พลมาตั้งกองกำลังขึ้น คุนิฮิโระซึ่งมีประสบการณ์ในการรบจากคิวชูเอง ก็ได้รับมอบหมายให้ควบคุมกองกำลังอะชิงารุกองหนึ่งด้วย

ในทีแรก ชัยชนะเหมือนเป็นเรื่องง่ายดายสำหรับโฮโจ ทว่าการปิดล้อมปราสาททาเทบายาชิกลับยืดยาวออกไปถึงสิบวัน พระชั้นสูงของวัดโมรินจิในท้องถิ่นเห็นซากศพกองทับถมกันมากมาย จึงพยายามผลักดันให้เกิดการเจรจา คำร้องของพระมาถูกเวลา เนื่องจากเหล่าซามูไรของโฮโจต่างเหนื่อยล้ากับศึกปิดล้อมปราสาท นอกจากนั้น จำนวนไพร่พลของพวกเขาที่ได้ประกาศออกไปก่อนหน้าก็ยังเป็นเพียงเรื่องโกหกขู่ขวัญ นางาโอะ อะคินางะยินยอมส่งมอบปราสาทให้กับโฮโจโดยไม่ต่อสู้ แลกเปลี่ยนกับการได้เป็นเจ้าปราสาทอะชิคางะ หลังจากเหตุการณ์นี้ นางาโอะได้ตบรางวัลให้กับประชาชนที่ได้ให้การสนับสนุนตัวเอง และคุนิฮิโระก็ได้รับจดหมายขอบคุณจากทางการ และหอกที่ตีโดยซาชู โยชิฮิโระ ผู้เป็นศิษย์ของฮิโรมิทสึอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เหตุการณ์โดยรวมในคันโตยังไม่มีเสถียรภาพ เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นาน ในช่วงปลายปีเทนโชที่ 17 (1589) ฮิเดโยชิได้วางแผนถอนรากถอนโคนตระกูลโฮโจ อุจินาโอะ (1562-1591) บุตรของอุจิมาสะ และผู้นำคนสุดท้ายของตระกูลโฮโจได้จัดการประชุมตระกูลครั้งใหญ่***ซึ่งจบลงด้วยความเห็นว่าจะตั้งรับในโอดะวะระและเผชิญหน้ากับการปิดล้อม บริพารที่หลงเหลือถูกย้ายไปประจำที่ปราสาทโอดะวะระ และนางาโอะ อะชินางะที่ได้เข้าร่วมการหารือก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลเขตตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาท ซึ่งมีเตาหลอมดาบ เมื่อนางาโอะเห็นจุดจบของตัวเองใกล้เข้ามา ก็เรียกให้คุนิฮิโนะตีดาบพิเศษให้กับตัวเองเล่มหนึ่งเพื่อใช้สำหรับศึกสุดท้ายของตัวเอง

หลังจากได้ให้สัตย์สวามิภักดิ์แด่โฮโจใจปีเทนโชที่ 14 (1586) อุจิมาสะได้มอบดาบเล่มหนึ่งที่ตีโดยโชงิ****ให้นางาโอะ อะคินางะ คุนิฮิโระได้ตีดาบที่เหมือนกันกับดาบของโชงินี้อีกเล่ม และสลักนามอะคินางะลงไปเป็นเจ้าของ ลายเซ็นบนดาบเล่มนั้น สลัก “คิวชู ฮิวงะจู คุนิฮิโระ ซาคุ – เทนโช จูอาจิเน็น คาโนเอะ โทระ นิกัทสึ-คิจิจิตสึ – ไทระ อะคินางะ” (ตีโดยคุนิฮิโระจากฮิวงะ คิวชู – ในวันแห่งโชคดี เดือน 2 ปีเทนโชที่ 18 [1590] ปีขาล – ไทระ อะคินางะ) การปิดล้อมปราสาทโอดะวะระของฮิเดโยชิเริ่มในเดือน 2 ปีเทนโชที่ 18 ดังนั้นคำจารึกบนดาบจึงสอดคล้องกับข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์

ที่น่าสนใจก็คือ ดาบต้นแบบของโชงิก็ยังมีลายเซ็นที่สลักโดยคุนิฮิโระอีกด้วย สลักว่า “ฮงซาคุ โชงิ – เทนโช จูฮาจิเน็น คาโนเอะ โทระ โกกัทสึมิกกะ – คิวชู ฮิวงะจู คุนิอฺโระ โนะ เทย์ โอ อุทสึ – เทนโช จูย่งเน็น ชิจิกัทสึ นิจูอิจินิจิ โอดะวะระ ซัมปุ โนะ โทคิ ชิทากาอุ ยาคาตะซามะ คุดาชิโอคาเระ นาริ – นางาโอะ ชิโกโร่ ไทนะ โนะ อะซง อะคินางะ โชจิ” (เดิมโดยโชงิ – ลายเซ็นสลักโดย คุนิฮิโระจากฮิวงะ คิวชู สลักวันที่ 3 เดือน 5 ปีเทนโชที่ 18 ปีขาล – ดาบได้รับมาวันที่ 21 เดือน 7 ปีเทนโชที่ 14 พร้อมกับการย้ายไปอยู่ที่โอดะวะระ – เจ้าของ[ดาบ] นางาโอะ ชินโกโร่ ไทระ โนะ อะซง อะคินางะ”

คำถามก็คือลายเซ็นนี้มีที่มาอย่างไร เป็นไปได้ว่าคุนิฮิโระได้รับคำสั่งให้ทำให้ดาบเดิมของโชงิสั้นลง และเพื่อสลักนามของผู้ตีดาบเดิมและเจ้าของดาบลงไป หรือดาบที่ถูกมอบให้นางาโอะอาจจะถูกทำให้สั้นลงอยู่แล้ว และนางาโอะสั่งให้คุนิฮิโนะเพิ่มลายเซ็นดังกล่าวลงไป ที่เห็นได้ชัดก็คือ ดาบเลียนแบบ (ลงวันที่เดือน 2) ถูกตีขึ้นก่อนที่ดาบต้นแบบจะถูกสลักคำจารึกเพิ่มเข้าไป และดาบเลียนแบบถูกตีตามแบบดาบที่ถูกทำให้สั้นลงอยู่ก่อน เนื่องจากทั้งสองเล่มมีขนาดความยาวและสัดส่วนโดยประมาณไม่ต่างกัน เป็นไปได้ยากว่านางาโอะจะสั่งให้คุนิฮิโระตีดาบที่สั้นกว่าดาบเดิมของโชงิ คำอธิบายที่ดีที่สุดก็คือนางาโอะสั่งให้ทำของเลียนแบบในเดือน 2 ปีเทนโชที่ 18 และเมื่อสถานการณ์ที่โอดะวะระไม่สู้ดี (การปิดล้อมจบลงในเดือน 7) เขาก็เรียกให้คุนิฮิโระจารึกนามของเขาผู้เป็นเจ้าของและที่มาของดาบลงไป เพื่อให้นามนั้นคงอยู่ไปตลอดกาล

อย่างไรก็ดี การปิดล้อมจบลงโดยไม่มีการหลั่งเลือด การยอมแพ้ของพวกโฮโจตามมาด้วยคำสั่งประหารและการลงทัณฑ์ ฝ่ายโฮโจหลายนายกระทำการเซปปุกุ และที่ดินของนางาโอะก็ถูกยึด ส่วนตัวเขาเองไปอยู่ใต้การควบคุมดูแลของซาตาเคะ โยชิโนบุ (1570-1633) นายแห่งปราสาทโอตะ ในจังหวัดฮิตาจิ ซึ่งต่อมาเขาได้เสียชีวิตลงอย่างเงียบเหงาและสงบ ดาบต้นแบบของโชงิ ปัจจุบันถูกรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์โทคุกาวะ ซึ่งดาบได้เป็นของตระกูลโทคุกาวะตั้งแต่ปีเคย์อันที่ 5 (1652) ตระกูลโทคุกาวะได้ดาบมาอย่างไรไม่มีบันทึกแน่ชัด ทราบว่าซาตาเกะ โยชิโนบุเข้าร่วมกับอิชิดะ มิทสึนาริในสงครามเซคิงาฮาระซึ่งหมายถึงการรับโทษทัณฑ์และลดที่ดินศักดินาลงครึ่งหนึ่ง ต่อมาเขาให้การสนับสนุนอิเอยาสึในการปิดล้อมปราสาทโอซาก้า จึงเป็นไปได้ว่า ดาบจากอะคินางะ มายังโยชิโนบุ และมายังตระกูลโทคุกาวะ ประวัติของดาบเลียนแบบและเรื่องผีสางที่เกี่ยวข้องถูกรวบรวมและบันทึกไว้โดยสึกิฮาระ โชโซ สมาชิกของ “ชูโอ โทเคน ไค” สมาพันธ์ดาบ ซึ่งได้มีโอกาสตรวจสอบดาบเล่มดังกล่าวในปี 1920 และได้วาดภาพของโคนดาบและคำสลักเอาไว้

อ้างอิงจากสึกิฮาระ หลังจากการตายของนางาโอะ ดาบเลียนแบบของคุนิฮิโระได้ไปอยู่กับอิชิฮาระ จินซาเอมอน บริพารที่ยังหลงเหลืออยู่ของโฮโจ เงินรายได้ของอิชิฮาระลดลง เจ้าตัวจึงคิดจะขายดาบ เขาและภรรยาที่ตั้งครรภ์เตรียมเดินทางไปยังเมืองโคโมโระในจังหวัดชินาโนะซึ่งเป็นเมืองใหญ่ใกล้ๆ ทว่าจู่ๆภรรยาก็เกิดปวดท้องใกล้คลอด เขาจึงตัดสินใจพาภรรยาเดินทางไกลออกไปจากที่หมาย ไปยังหุบเขาถัดไปที่ซึ่งเห็นแต่เพียงควันลอยขึ้นราวกับเสา ที่นั่น พวกเขาพบกระท่อมโทรมๆเล็กๆหลังหนึ่งซึ่งหญิงชราผมสีดอกเลาอาศัยอยู่

“แม่หญิง” จินซาเอมอนกล่าวอย่างสุภาพ “ให้ภรรยาข้าพักในกระท่อมอันอบอุ่นของท่านจนกว่าข้าจะได้ยามาจากโคโมโระได้หรือไม่” นางตอบด้วยรอยยิ้มน่าขนลุก “เป็นเกียรติและความยินดีของข้านัก” จินซาเอมอนออกเดินทางไปโคโมโระทันที 2-3 ชั่วโมงต่อมา เขากลับมายังกระท่อม และได้ยินเสียงภรรยาร้องไห้มาแต่ไกล เขาเร่งรีบเปิดประตูเข้าไปเห็นหญิงชราจะกินทารกที่เพิ่งเกิดจึงชักดาบที่ตีโดยคุนิฮิโระออก และฟันนางแม่มดเสีย ทว่านางยังไม่ตายและหนีออกไปทางหน้าต่าง จินซาเอมอนออกไล่ล่านางผ่านพงไพรทึบตามรอยเลือดจองนางจนไปถึงร่องหิน ดาบเปื้อนเลือดยังคงอยู่ในมือ จินซาเอมอนตะโกนผ่านรอยแยกเข้าไป “อยากซ่อนก็ซ่อนไป แต่ข้าจะสุมไฟให้เจ้าออกมา!” เขารวบรวมใบไม้รอบๆมาสุมไฟที่หน้าร่องหิน ควันไฟสีดำลอยลอดช่องหินเข้าไปในถ้ำจนกระทั่งนางแม่มดต้องคลานออกมา นางพยายามเล่นงานจินซาเอมอนทีเผลอและบินโฉบผ่านศรีษะของเขา แต่จินซาเอมอนเป็นนักรบที่ชำนาญจึงสวนดาบผ่าร่างของนางจากซ้ายไปขวา หลังจากเหตุการณ์นี้ เขาจึงเรียกดาบเล่มนี้ว่า “ยามัมบะกิริ คุนิฮิโระ” ยามัมบะคือแม่มดภูเขาที่มักพบเจอในนิทานพื้นบ้านญี่ปุ่น

หลังจากนั้นเป็นช่วงสงครามเซคิงาฮาระ และอิชิฮาระ จินซาเอมอนซึ่งได้กลายเป็นโรนิน ได้เดินทางไปฮิโคเนะในจังหวัดโอมิเผื่อหวังจะได้รับการว่าข้างจากตระกูลอีอิ “อะไรก็ได้หมด” เหมือนจะเป็นสิ่งที่ทำกันในช่วงนั้น และหากเขาาสมารถได้ชัยชนะหรือแสดงออกถึงความกล้าหาญ บางทีเขาอาจได้งานมั่นคงสักตำแหน่งในฐานะบริพารของตระกูลดังกล่าว ตอนนั้นเองเขาได้พบกับบริพารตระกูลอีอิ อัทสึมิ เฮย์ฮาจิโร่***** ซึ่งได้ทำดาบตัวเองหักไปก่อนหน้านั้น “พวกเรา เหล่าซามูไรควรเกาะกลุ่มกันไว้ โปรดรับดาบของข้าไปเป็นของขวัญเถิด” จินซาเอมอนกล่าวและมอบยามัมบะกิริ คุนิฮิโระให้หวังให้เป็นที่ถูกใจของตระกูลอีอิ ตระกูลอีอิเข้าร่วมกับอิเอยาสึในสงครามเซคิงาฮาระ และแผนของจินซาเอมอนก็สัมฤทธิ์ผล เขาได้เป็นผู้ติดตามอีอิ นามาโอสะ (1561-1602) ของเขตศักดินาฮิโคเนะ

ในช่วงการฟื้นฟูสมัยเมจิ ดาบอยู่กับตระกูลอัทสึมิ ทว่าเมื่อสถานะของพวกนักรบด้อยลง เขานำดาบไปจำนำที่ร้านขายโชยุคิตะมุระ แต่เมื่อเขาไม่สามารถนำเงินมาไถ่ดาบคืนได้ บุรุษผู้หนึ่งนามมิอิจึงได้ซื้อไป และเป็นเจ้าของดาบจนถึงช่วงยุคไทโช (1912-1926) และสึกิฮาระ โชโฮก็ได้ตรวจสอบดาบดังกล่าวผ่านมิอิผู้นี้เอง ปัจจุบัน ยามัมบะกิริ คุนิฮิโระเป็นสมบัติส่วนบุคคลในเมืองโตเกียว

บน – สมบัติทางวัฒนธรรม ดาบที่ตีโดยโชงิ ความยาวใบดาบ 71.2 cm ส่วนโค้ง 2.4 cm
ล่าง – สมบัติทางวัฒนธรรม ยามัมบะกิริ คุนิฮิโระ ความยาวใบดาบ 70.6 cm ส่วนโค้ง 2.8 cm

Screen Shot 2558-06-28 at 7.18.28 PM

*ช่วงสองทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่ 16 เป็นช่วงของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในญี่ปุ่น ศูนย์กลางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมรวมอยู่ที่มหานครที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเช่นเกียวโตและโอซาก้า ซึ่งดึงดูดศิลปิน ช่างฝีมือและช่างตีดาบเข้ามา ก่อนหน้านั้น ช่างตีดาบได้เหล็กมาจากงานหลอมในท้องถิ่น แต่ด้วยระบบคมนาคมที่ขยายตัว วัตถุดิบจึงหาได้ทั่วไปไม่มากก็น้อยจากทั่วทุกหนแห่งในประเทศ​ ซึ่งทำให้ประเพณีการตีดาบดั้งเดิมที่พัฒนามาตั้งแต่สมัยเฮอันจนถึงช่วงต้นยุคเคย์โช (1596-1615) ลดน้อยลง กลายเป็นจุดเปลี่ยนจากสายดาบเก่า “โคโต” ที่มีมาหลายศตวรรษสู่สายดาบใหม่ “ชินโต”
**ชื่อเต็มคือ นางาโอะ ชิโกโร่ ไทระ โนะ อะซง อะคินางะ
***ชื่อเรียกการประชุมครั้งนี้ “การประชุมโอดะวะระ” (โอดะวะระ เฮียวโจ) ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน โดยใช้เรียกการเจรจาที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานจนกระทั่งสายเกินการสำหรับการตัดสินใจที่ถูกต้อง ในกรณีนี้ การประชุมของตระกูลโฮโจลากยาวออกไปจนกระทั้งกองทัพของฮิเดโยชิเข้ามาถึงหน้าปราสาท แต่เหล่าผู้ถูกปิดล้อมไม่มีอะไรไปต่อสู้ ซึ่งเหตุการณ์นี้เปรียบได้กับการประชุมที่เวียนนาในปี 1814 จอมพลและนักเขียน ชาร์ล โจเซฟ ลีนย์ (1766-1814) ที่ได้บรรยายถึงความคืบหน้าของการประชุมว่า “Le congrès danse beaucoup. Mais il ne marche pas” (การประชุมเริงระบำมากมาย ทว่าไม่คืบหน้า)
****โชงิ เป็นช่างที่ทำงานในแถบจังหวัดบิเซน ในช่วงยุคเคนมุ (1334-1338) และเป็นหนึ่งใน “สิบศิษย์ของมาซามุเนะ”
*****ประวัติส่วนนี้ขัดกับข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตามบันทึกของเขตปกครองฮิโคเนะ ว่าเฮย์ฮาจิโร่ ผู้มีรายได้ 300 โคคุ ตายในปีเก็นโรคุที่ 14 (1701) จึงเป็นไปไม่ได้ว่าเขาจะได้พบอิชิฮาระ จินซาเอมอนก่อนสงครามเซคิงาฮาระจะอุบัติ

One thought on “[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Yamanbagiri Kunihiro

Leave a comment