[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Kogarasumaru

Part 1: แหล่งข้อมูลหนังสือภาษาอังกฤษ

แปลและเรียบเรียงจาก: Sesko, M. (2012). Legends and Stories around the Japanese Sword 2, pp.17-31. Raleigh: Lulu Enterprise, Inc.

ใน [] คือส่วนที่ผู้แปลอธิบายขยายเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นค่ะ

ชื่อ “โคการาสึมารุ” (อีกาน้อย) เป็นท่ีรู้จักกันดีสำหรับใครก็ตามที่พอจะคุ้นเคยกับดาบญี่ปุ่น ในบทนี้ [ผู้แต่ง] ต้องการเจาะลึกในรายละเอียดเรื่องโคการาสึมารุและการสืบทอดดาบ เพราะว่า นอกจากรูปร่างภายนอกและความสัมพันธ์กับตระกูลไทระแล้ว เรื่องอื่นเกี่ยวกับดาบเล่มนี้ไม่เป็นที่รู้กันมากนักนอกจากในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน [ผู้แต่ง] ต้องการเริ่มจากทฤษฎีว่าด้วยการตั้งชื่อและที่มาของดาบ เนื่องจากเบื้องต้นแล้วมีด้วยกันห้าเรื่องด้วยกัน

ในหนังสือ Legend and Stories around the Japanese Sword เล่ม 1 [ผู้แต่ง] ได้กล่าวสั้นๆถึงหนึ่งในเรื่องการส่งผ่านดาบ ซึ่งเป็นเรื่องที่พบในมัวนหนังสือเกี่ยวกับดาบ ทสึรุกิโนะมาคิ ในเฮย์เคะโมโนกาตาริ [1] บุตรชายคนที่สี่ของฮาจิมันทาโร่ โยชิอิเอะ (1039-1106) มินาโมโตะ โนะ ทาเมโยชิ (1096-1156) เคยเป็นเจ้าของดาบมีชื่อเสียง ชิชิโนะโคะ* (ลูกสิงโต) เขาได้สร้างดาบที่เหมือนกันไม่ผิดเพี้ยนกับชิชิโนะโคะ ด้วยฝีมือของช่างฝีมือจากจังหวัดฮาริมะ เพราะเขาเชื่อว่ามีลูกสิงโตตัวเดียวคงจะเหงาเกินไป ปรากฎว่าดาบเล่มจำลองเป็นงานช่างที่ยอดเยี่ยม ทาเมโยชิจึงได้สั่งให้ทำเครื่องทรงที่งดงามสำหรับดาบเล่มนี้ เครื่องประดับเมนุคิที่ด้ามทำเป็นรูปอีกา เขาจึงเรียกดาบว่า “โคการาสึ” จากที่ได้เคยกล่าวไปแล้วในเล่ม 1 เดิมโคการาสึมีความยาวกว่าเล่มต้นแบบ 6 มม. (2 บุ) ดังนั้นชิชิโนะโคะจึงขยับเองและตัดเอาส่วนเกินของโคการาสึออก

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีการสันนิษฐานว่าเกร็ดประวัตินี้มีภูมิหลังอีกแบบ นั่นคือ ด้วยเหตุผลบางอย่างหมุดเมคุกิโลหะที่เชื่อมต่อกับส่วนเมนุคิในเครื่องทรงเก่าเกิดหัก และส่วนโคนแหลมที่ฝังในด้ามก็เลื่อนลงไปลึกกว่าเดิม 6 มม.ในด้าม ดังนั้นในคราต่อมาเมื่อทาเมโยชิชักดาบออก จึงดูเหมือนดาบทั้งสองมีความยาวเท่ากัน อย่างไรก็ตาม เพราะ “เหตุการณ์” นี้ ทาเมโยชิจึงได้คืนชื่อเดิม “โทโมคิริ [2]” (ตัดได้เท่าเทียม [คำนี้แปลจาก equal cutter ในภาษาอังกฤษ ตรงนี้มีคนทักว่าในภาษาญี่ปุ่นใช้คำว่า “ตัดสหาย” ค่ะ – ขอบคุณคุณ chibitare]) ให้กับชิชิโนะโคะ หลังจากนั้น ดาบตกมาอยู่ในมือของบุตรชายของทาเมโยชิ มินาโมโตะ โนะ โยชิโตโมะ (1123-1160)

หากเราเชื่อตามม้วนหนังสือจากเฮย์เคะโมโนกาตาริ โคการาสึมารุเดิมเป็นสมบัติและดาบประจำตระกูลของมินาโมโตะไม่ใช่ไทระ ตามดังที่ทฤษฎี [แรก] ได้กล่าวไว้

แต่ในเฮย์จิโมโนกาตาริ [3] เราพบบันทึกที่กล่าวว่าไทระ โนะ ชิเงโมริ (1138-1179) พกดาบดังกล่าวหลังจากโยชิโตโมะตาย โดยที่ชิเงโมริได้ฆ่าบุตรคนโตของโยชิโตโมะ อะคุเก็นตะ โยชิฮิระ (1141-1160) ในการประลองหน้าตำหนักชิชิเด็นในวังหลวง บันทึกกล่าวกว่า “ชิเงโมเระ [หนังสือสะกดว่า ชิเงโมเระ ไม่ใช่ชิเงโมริ ผู้แปลไม่แน่ใจว่าเป็นการสะกดผิดหรือตั้งใจ จึงขอคงไว้ตามเดิม] พกดาบที่ชื่อ “โคการาสึ” แต่เขาอาจจะเอาดาบไปจากโยชิฮิระที่เสียชีวิตก็ได้ และดาบได้กลายมาเป็นสมบัติประจำตระกูลไทระ

ทฤษฎีที่สองเกี่ยวกับการตั้งชื่อดาบย้อนกลับไปในสมัยจักรพรรดิคัมมุ (737-806, ครองราชย์ 781-806) คัมมุเป็นผู้ย้ายเมืองหลวงจากนาราไปเฮอันเคียยว วันหนึ่งเขาไปเยี่ยมเยียนตำหนักใต้ที่เพิ่งสร้างเสร็จและมองท้องฟ้าด้วยความรู้สึกยินดี ทันใดนั้น เขาก็เห็นอีกาตัวหนึ่งบินผ่านหมู่เมฆ กาหอบอะไรบางอย่างไว้ เขาพยายามล่อนกนั้นด้วยคทาไม้และก็สำเร็จ อีกาบินหวนกลับมาร่อนลงตรงหน้าเขา และเริ่มพูด “ข้าคือผู้ส่งสาส์นจากศาลเจ้าใหญ่แห่งอิเสะ และข้านำดาบมาให้พระองค์!” นางกาไซร้ทำความสะอาดขนน้อยๆ กระโดดไปรอบๆและทิ้งดาบที่นางบอกลง ด้วยเหตุนี้ จักรพรรดิคัมมุจึงได้ตั้งชื่อดาบว่า “โคการาสึมารุ” จากหลักการประเมินค่าดาบของตระกูลอุทสึโนมิยะ ตำนานนี้เล่าย้อนไปถึงเรื่องเล่าจากปากต่อปากของนายพลสมัยคามาคุระ ยานะ เกียวบุซาเอมอน นิวโด เอ็นอะ เนื่องจากคัมมุมาจากตระกูลไทระ นี่จึงนำเรากลับไปที่ทฤษฎี [ที่สอง] ที่ว่าดาบเป็นดาบประจำตระกูลไทระ

มาถึงเรื่องการสืบทอดดาบเรื่องที่สาม ในปี 939 ไทระ โนะ มาซาคาโดะ (?-940) ทายาทรุ่นที่ห้าของจักรพรรดิคันมุ ก่อความไม่สงบในเขตคันโตตะวันออก โดยเรียกตัวเองเป็น “จักรพรรดิ” (ชินโน) จักรพรรดิสึซาคุ (923-952, ครองราชย์ 930-946) จักรพรรดิพระองค์จริงในตอนนั้น ส่งลูกพี่ลูกน้องของมาซาคาโดะ ไทระ โนะ ซาดาโมริ (?-989) และฟุจิวาระ โนะ ฮิเดซาโตะ ไปจัดการเรื่องนี้และได้มอบดาบเล่มหนึ่งให้ซาดาโมริเป็นสัญลักษณ์ ในสมัยนั้นเป็นเรื่องปกติที่จักรพรรดิจะมอบดาบให้ขุนพลสำคัญเพื่อเป็นสัญลักษณ์อันชอบธรรมของอำนาจที่ได้ประทานให้ ดาบเหล่านั้นเรียกว่า “เซ็ตโต [4]”

พวกเขาไล่ล่ามาซาคาโดะไปจนถึงซาชิมะ ในจังหวัดชิโมสะที่ซึ่งมาซาคาโดะไปหลบในคฤหาสน์ พวกเขาตัดสินใจก่อควันเพื่อไล่มาซาคาโดะออกมา แต่จู่ๆก็มีชายแปดคนออกมาจากบ้านหลังนั้น เพราะมาซาคาโดะมีวิชาลับแยกร่าง (บุนชินโนะจุตสึ) ซึ่งสามารถแยกร่างตัวเองได้ เกิดความสับสนในกลุ่มผู้โอบล้อมว่าใครคือมาซาคาโดะตัวจริง ซาดาโมริใช้เซ็ตโตฟันใส่เจ้าคนที่สวมหมวกเกราะที่มีเครื่องประดับคล้ายอีกา ปรากฏว่านั่นคือมาซาคาโดะตัวจริง เขาจึงตั้งชื่อให้ดาบว่า “โคการาสึมารุ” แต่เอกสารทางประวัติศาตร์เก่ากล่าวว่า จักรพรรดิสึซาคุมิได้มอบดาบให้ แต่เป็น “ไดโจ-คัมปุ” จดหมายพระราชทานพระราชอำนาจ และยังบอกอีกด้วยว่า มาซาคาโดะถูกซาดาโมริยิงด้วยธนู ตกจากหลังม้าและเสียชีวิต

ทฤษฎีหมายเลขสี่ถูกพบในหนังสือเกี่ยวกับดาบสมัยมุโรมาจิ “โจเคียว เมย์ซึคุชิ” ในหนังสือกล่าวว่า ชื่อ “โคการาสึมารุ” มาจาก “โคการาขิ” แต่ก่อนอื่น เราต้องขอเบี่ยงประเด็นเล็กน้อย ตำนานเล่าว่ามีชายยากจนอาศัยอยู่ในจังหวัดอิเสะ เขาไปไหว้ศาลเจ้าอิเสะทุกวันเพื่อขอให้ชีวิตของตัวเองดีขึ้น วันหนึ่ง เสียงลึกลับเอ่ยกับเขาว่า “หากเจ้าไปล่าสัตว์ตอนนี้ ครอบครัวเจ้าจะมีกินไปตลอดกาล!”

เขาทำตามที่เสียงบอก และด้วยความประหลาดใจ เขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก พอตกเย็นเขาก็ไปถึงเนินมิทสึโกะซึกะที่เขาพบทาจิเล่มหนึ่งถูกทิ้งเอาไว้ แน่นอนว่าเขาหยิบทาจิเล่มนั้นไปด้วย แต่เขาต้องพักกลางป่าระหว่างทางกลับบ้านเพราะเป็นช่วงย่ำรุ่งแล้ว เช้าวันต่อมา เขาพบกับภาพอันประหลาด กิ่งไม้ใบไม้ที่ดาบของเขาวางพิงอยู่เกิดเหี่ยวเฉา ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตั้งชื่อดาบว่า “โคการาชิ” แปลว่า “[ทำให้] ต้นไม้ (โค) เหี่ยวเฉา (คาราสึ)”

เรื่องนี้ถูกเล่าให้ไทระ โนะ ทาดาโมริ (1096-1153) ฟัง เขาซื้อดาบจากชายคนนั้นด้วยเงินจำนวนมาก สุดท้ายแล้ว เสียง [ที่บอกชายยากจน] ก็พูดถูก เพราะบัดนี้ชายคนนั้นสามารถเลี้ยงครอบครัวได้ด้วยเงินของทาดาโมริ ในกาลต่อมา ทาดาโมรินอนหลับกลางวันอยู่ที่ที่พำนักอิเคะโดโนะในเกียวโต ตอนที่เขาหลับ งูยักษ์เลื้อยออกมาจากบ่อน้ำแถวนั้นและพยายามจะกินเขา แต่ดาบโคการาชิปลดตัวเองออกจากฝักและไล่งูนั้นกลับไปยังบ่อ ทาดาโมริประทับใจมาก จึงได้ตั้งชื่อเล่นอีกชื่อหนึ่งให้กับดาบ คือ “นุเคะมารุ” แปลคร่าวๆได้ว่า “ผู้ถูกชักออก”

ในเฮย์จิโมโนกาตาริ เราพบอีกบันทึกว่าด้วยนุเคะมารุ หนังสือกล่าวว่าดาบนี้ถูกพกพาโดยบุตรชายคนที่ห้าของทาดาโมริ ไทระ โนะ โยริโมริ (1133-1186) ระหว่างการกบฏเฮย์จิ เมื่อเขาพบกับยักษ์ฮาจิมาจิ จิโร่ มันกลายเป็นการไล่ล่าบนหลังม้าและจิโร่ก็สามารถเหวี่ยงคราดยักษ์คล้องเทะเฮ็น ช่องเปิดกลมเล็กๆที่ยอดหมวกเกราะของญี่ปุ่นเอาไว้ได้ เขาจึงลากโยริโมริลงจากอานม้า แต่โยริโมริชักนุเคะมารุออกและสะบั้นไม้คราด กลับกัน จิโร่ตกจากหลังม้าและถูกสังหารโดยโยริโมริ เพื่อเป็นหลักฐานของเรื่องนี้ โยริโมริกลับไปที่ปราสาทไทระทั้งที่คราดยังติดอยู่กับเทะเฮ็น

แต่ผู้เชี่ยวชาญส่วนมากโคการาสึมารุและโคการาชิเป็นดาบคนละเล่มกัน ซึ่งทั้งคู่ถูกสืบทอดกันมาในตระกูลไทระ โคการาชิมักถูกขึ้นรายชื่อไว้ในแหล่งข้อมูลเก่าด้วยนาม “โคการาชิมารุ” จึงเป็นไปได้ว่าผู้บันทึกเหตุการณ์เกิดสับสนและสร้างความสัมพันธ์ที่ไม่มีอยู่จริงระหว่างดาบทั้งสองเล่มนี้ [5] ข้อพิสูจน์อีกอย่างที่ว่ามีดาบสองเล่มคือที่มาของดาบหลังจากสมัยทาดาโมริ ซึ่งข้อมูลที่มานี้ได้มาจาก “บุเคะเมียวโมคุโช” ของฮานาวะ โฮคิอิจิ (1746-1821) ที่กล่าวว่าทาดาโมริยกโคการาสึมารุและโคการาชิให้กับบุตรคนโตผู้สืบทอด ไทระ โนะ คิโยโมริ (1118-1181) คิโยโมริเก็บโคการาสึมารุเอาไว้ และมอบโคการาชิให้กับน้องชาย [ต่างมารดา] โยริโมริ โคการาสึมารุถูกสืบทอดกันมาในตระกูลไทระสายตรงของไทระ และโคการาชิเป็นดาบสมบัติของสายตระกูลที่สืบจากโยริโมริ โยริโมริมอบโคการาชิให้บุตรชาย ไทระ โยะ ยาสึโมริ (1157~1233) ยาสึโมริมอบให้บุตรชาย ไทระ โนะ โยริคิโยะ และโยริคิโยะมอบต่อให้กับบุตรชายคือยาสึคิโยะ

ทฤษฎีที่ห้าว่าด้วยนามของโคการาสึมารุกล่าวว่ามาจากดาบที่เหมือนกับดาบของเกาหลี (คะระซะบิ) “คะระ” แปลว่า “เกาหลี” และ “ซาบิ” แปลว่า “พลั่ว” หรือ “คราด” หรือจากรากศัพท์ “เครื่องมือมีคม” หรือ “เครื่องมือสำหรับใช้ตัด [6]” ตามทฤษฎี คำว่า “คะระซะบิ” ย่อได้เป็น “คะระซะ” ที่กลายมาเป็น “คาราสึ” ในเวลาต่อมา แต่นักนิรุกติศาสตร์ญี่ปุ่นก็เชื่อตามอีกสายหนึ่งเช่นกัน คือ “คะระซะบิ” แท้จริงมาจาก “อะคะระซะมิ**” ที่แปลว่า “ดาบทอประกาย” จากนั้น “อะคะระซะมิ” จึงกลายมาเป็น “คะระซะบิ” และ “คะระซะ” ซึ่งถูกเติมพยางค์ “โค” เข้าไปได้เป็น “โคคะระซะ” แปลว่า “ดาบที่ทอประกายเล่มเล็ก”

กลับมาดูประวัติของดาบที่ตามมากันต่อ ช่วงปลายสมัยเฮอัน โคการาสึมารุอยู่กับตระกูลไทระ หรือให้ชัดเจนกว่าคือ ทายาทของคิโยโมริ ไทระ โนะ โคเระโมริ (1158-1184) ตระกูลไทระประสบกับความพ่ายแพ้อย่างสาหัสที่อิจิโนะทานิ และสมาชิกในตระกูลหลายคนก็พากันลงเรือหนีไปยาชิมะบนเกาะชิโกกุ ในจำนวนนั้นมีโคเระโมริที่สั่งว่าโคการาสึมารุและชุดเกราะคะระคะวะ โนะ โยโรอิที่สืบทอดกันมาให้ยกให้บุตรชายของเขา ทาคาฮิระ (1173-1199) เพื่อจะได้สืบทอดกันต่อไปในตระกูล โคเระมาริฆ่าตัวตายโดยกระโดดลงทะเล ดาบไปไม่ถึงทาคาฮิระ แต่ได้ไปอยู่ในการดูแลของพี่ชาย [ต่างมารดา] ของโคเระโมริ ไทระ โนะ โทโมะโมริ (1152-1158) โทโมะโมริเองก็ได้ฆ่าตัวตายในศึกดันโนะอุระที่เกิดต่อมา โดยผูกสมอกับขาตัวเองแล้วกระโจนลงทะเล นักประวัติศาสตร์ต่างสันนิษญานกันว่าโคการาสึมารุน่าจะสูญหายไปในความวุ่นวายของสงครามเกมเปย์ เครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งสามแห่งจักรพรรดิเองก็ต้องประสบกับชะตากรรมเฉกเดียวกันเมื่อจักรพรรดิอันโตกุวัยหกชนมพรรษาจมน้ำ

แต่ในหนังสือดาบ “เท็นบงเมย์สึคุชิ” กล่าวว่า โคการาสึมารุถูกส่งต่อจากวาดะ ซาบุโร่ (1147-1213) ไปยังอะชิคางะ โยชิอุจิ (1189-1255) วาดะ ซาบุโร่ ผู้มีชื่อต้นอันเป็นทางการว่า “โยชิโมริ” เป็นผู้ดำรงตำแหน่งเบ็ตโตใน “กลุ่มบริพาร” สมัยอิจิโนะทานิและดันโนะอุระ จากเฮย์เคะโมโนกาตาริ เขาข้ามฝั่งด้วยเรือเล็กลอดผ่านเรือของศัตรูทั้งสองฝ่ายที่ยิงห่าเกาทัณฑ์จำนวนนับไม่ถ้วนใส่ เราจึงสันนิษฐานได้ว่าเขาไม่ได้พกโคการาสึมารุเอาไว้ในระหว่างการนี้ ส่วนโยชิอุจิ เป็นบรรพบุรุษของอะชิคางะ ทาคาอุจิ (1305-1358) กองกำลังบาคุฟุภายใต้การนำของโยชิอุจิชนะพวกวาดะในปีที่สามของเค็นเรียคุ (1213) นี่คงจะเป็นช่วงที่โคการาสึมารุได้ตกเป็นของตระกูลอะชิคางะในฐานะของที่ได้จากสงคราม “ปัญหา” ก็คือเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาของดาบดังกล่าวถูกพบเพียงใน “เท็นบงเมย์สึคุชิ” เท่านั้น เอกสารเก่าเกี่ยวกับดาบสมัยนันโบคุโจและมุโรมาจิไม่ได้เอ่ยถึงโคการาสึมารุ ทั้งไม่มีความเกี่ยวโยงกับโยชิโมริหรือโยชิอุจิอีกด้วย

อย่างไรก็ดี เชื่อกันว่าโคการาสึมารุหายสายสูญไปในสงครามดันโนะอุระจนกระทั่งดาบปรากฎขึ้นอีกในอีก 350 ปีให้หลังในครอบครองของตระกูลอิเสะ พวกอิเสะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับชนชั้นขุนนางนักรบ (บุเคะโคจิตสึ) และรับใช้โชกุนอะชิคางะในเรื่องนี้ ตระกูลนี้สืบเชื้อสายมาจากสายย่อยของไทระซึ่งกลายมาเป็นสาขาของตัวเองในสมัยทวดของคิโยโมริ อิเสะ ซาดาทาเคะ (1717-1784) ที่ทำงานในตำแหน่งของตระกูลให้บาคุฟุเอโดะวาดรูปโคการาสึมารุพร้อมด้วยข้อความดังนี้

“ดาบโคการาสึมารุและชุดเกราะคะระคะวะ โนะ โยโรอิมาอยู่ในครอบครองของตระกูลเราในฐานะรางวัลเมื่อซาดาโมริสังหารมาซาคาโดะ ตั้งแต่นั้นก็ถูกสืบทอดต่อกันมาในสายตระกูลของบุตรคนโตจนกระทั่งมาถึงตัวข้า ซาดาทาเคะ ซึ่ง จากยุคเท็นเกียว (938-947) มาจนถึงยุคเมย์วะ (1764-1772) เป็นสามสิบรุ่นในระยะเวลา 829 ปี”

[คำบันทึกของ] ซาดาทาเคะขัดกับเรื่องที่มาของดาบของทาคาฮิระและโทโมะโมริ เขาเขียนต่อไปว่าบรรพบุรุษของเขา อิเสะ ซาดาทากะ และบุตรชายคนโต ซาดาโยชิ [คนหนึ่ง]เสียชีวิตในการรบในเกียวโตและ[อีกคน]ในแถบเกียวโตในปีที่ห้าของเอย์โรคุ (1562) ซาดาโยชิทิ้งดาบโคการาสึมารุเอาไว้ให้กับบุตรชายวัยห้าปีนาม โทระฟุคุมารุ ที่ถูกพาไปยังโอบามาในจังหวัดวาคาสะเพื่อความปลอดภัย เมื่อไปที่นั่น ด้วยความกลัวว่าดาบจะถูกขโมยไป ดาบจึงถูกฝากไว้ภายใต้การดูแลของน้องชายของซาดาโยชิที่บวชเป็นพระในเกียวโต ต่อมาเมื่อโทระฟุคุมารุบรรลุนิติภาวะและใช้ชื่อ “ซาดาทาเมะ” เขาได้มอบดาบโคการาสึมารุต่อให้กับบุตรชายของตัวเอง ซาดาเทรุ ที่ใช้เส้นสายทางพี่น้องแม่เข้าไปรับราชการภายใต้โชกุนโทคุกาวะ อิเอมิทสึ (1604-1651) ซึ่งเหลนของซาดาเทรุคือบิดาของซาดาทาเคะนั่นเอง ป้า [หรืออาจจะเป็นน้า] ของซาดาเระรุคือนางในที่มีชื่อเสียง คาสึกะ โนะ ทสึโบเนะ (1579-1651) เธอมอบโคการาสึมารุให้เป็นของขวัญแด่โทคุกาวะ อิเอมิทสึ แต่หลังจากที่ความตื่นเต้นกับของแผ่วลงในสิบวัน อิเอมิทสึก็เสนอให้ดาบกลับไปอยู่กับตระกูลอิเสะดังเดิมด้วยตระกูลอิเสะได้ดูแลดาบมาหลายร้อยปี

ถึงสมัยของซาดาทาเคะ ผู้เชี่ยวชาญด้านดาบร่วมสมัยและผู้จดบันทึกเหตุการณ์ต่างมั่นใจว่าโคการาสึมารุของตระกูลอิเสะเป็นดาบของจริง อาจด้วยซาดาทาเคะได้เขียนถึงที่มาไว้ชัดเจนหรือพวกเขามีแหล่งข้อมูลอื่นที่เราไม่รู้ในปัจจุบัน ในสมัยเมย์จิ (1868-1912) โซ ชิเงมาสะ (1847-1902) ผู้ซึ่งตระกูลเคยปกครองที่ดินศักดินาทสึชิมะ-ฟุจู ได้ซื้อดาบไปในที่สุด ตระกูลโซอ้างว่าตนเป็นทายาทตระกูลไทระสายโทโมะโมริ ซึ่งถือว่าดาบได้วกกลับมาที่[สายตระกูล]เริ่มต้นอีกครั้ง ในที่สุด ในปี 1882 ชิเงมาสะถวายดาบโคการาสึมารุให้กับจักรพรรดิเมย์จิ (1852-1912)

screen-shot-2559-11-12-at-11-41-00-pm

หลังจากเรื่องเล่าพวกนี้แล้ว เรามาดูกันที่ตัวดาบ ตามที่ได้เคยกล่าวไว้ และเห็นจากในรูป โคการาสึมารุที่เห็นในปัจจุบันถูกตีตามแบบคิซซากิ-โมโรฮะ-ซึคุริ ลักษณะใบดาบเช่นนี้เป็นที่นิยมในสมัยนารา แต่ดาบที่เหลือให้เห็นจากยุคนั้น เช่น เล่มที่อยู่ในโชโซอิน มีคมที่สั้นกว่าอย่างเห็นได้ชัดในส่วนหลัง

นอกจากนี้ โคการาสึมารุยังเป็นดาบคุณภาพดีกว่าดาบในโชโซอิน และอยู่ในระดับเดียวกับงานคิวชูในรุ่นแรกๆ เหมือนของสายโคนามิโนะฮาระหรือบุงโก ยูคิฮาระ สมบัติคลังจักรพรรดิ โคการาสึมารุไม่มีลายเซ็น แต่เชื่อกันว่าเป็นฝีมือของนายช่างในตำนานอะมาคุนิ อิเสะ ซาดาทาเคะเขียนเอาไว้ว่า “ดาบเป็นมุเมย์ และเพราะสภาพที่แย่ของส่วนโคนดาบจึงทำให้ไม่เห็นรอยสลักใดๆ แต่ตระกูลโฮนามิและผู้ประเมินดาบอื่นๆต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นงานของอะมาคุนิ”

screen-shot-2559-11-12-at-11-42-05-pm

แต่เราทราบได้จากรูปวาดของฮงอามิ โอเอ็ทสึ (1558-1637) ที่แสดงวันที่และลายเซ็นเอาไว้ รูปวาดนี้ได้ถูกตีพิมพ์อีกครั้งใน “ทสึกุฮิระ โอชิกาตะ [7]” เป็นที่สังเกตว่ารูปวาดของใบดาบและส่วนโคนของโคเอ็ทสึตรงกับเล่มที่มีในคลังสมบัติจักรพรรดิทั้งความยาว สัดส่วน และตำแหน่งของมุเนะมาจิและฮะมาจิ และเมคุกิอะนะ

ส่วนโคนสึกกร่อนไปมากเราจึงไม่สามารถอ่านลายเซ็นใดๆได้ในปัจจุบัน แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มี เมย์ ให้เห็นในสมัยโคเอ็ทสึ เช่น ระหว่างยุคต้นๆของเอโดะ เรื่องนี้จึงอธิบายรูปประกอบที่ชัดเจนและไม่สมบูรณ์ของลายเซ็นใน “ฮงอามิ โคเอ็ทสึ โอชิกาตะ” ลายเซ็นดังกล่าวอ่านว่า “อะมาคุนิ [8]” -ไทโฮ?-เน็น?-กัตสึ ยุคไทโฮใช้อักษรแบบเดียวกับสมัยของอะมาคุนิ (ตัวโฮ) ปีที่สลักเห็นได้แค่ส่วนเดียว ที่เห็นมีแต่เส้นโค้งที่วาดไปที่มุมขวาล่าง อาจเป็นเลขแปดหรือเลขสอง เพราะยุคไทโฮเป็นช่วงเวลาเพียงสี่ปี จึงสามารถตัดแปดออก และได้ปีที่สอง คือ 702 ข่างอะมาคุนิได้ถูกบันทึกไว้ในบันทึกเกี่ยวกับดาบว่าอยู่ในช่วงยุคไทโฮซึ่งตรงกับช่วงปีของโคการาสึมารุ แต่เราก็ยังต้องระมัดระวังในข้อนี้ เป็นไปได้ว่า “ไทโฮ” เป็นคำที่ “ถูกอ่าน” โดยโคเอ็ทสึด้วยความ “ต้องการช่วยเหลือ” และข้อมูลในหัวว่าอะมาคุนิน่าจะทำงานในช่วงปีไทโฮ

มาดูที่เครื่องทรงของโคการาสึมารุ ซาดาทาเคะบันทึกว่าที่พันด้ามจับหลวม และห่วงใส่สายคล้องหัก เครื่องทรงนี้ว่ากันว่าถูกทำในช่วงปีที่สองของโอนิน (1468) จึงเป็นไปได้ว่าเครื่องทรงดาบแรกสุดถูกทำลายเพราะไฟในสงครามโอนินที่เริ่มในปี 1467 มุเนชิเงะกล่าวว่าในตอนแรกสภาพเครื่องทรงแย่กว่านี้ในตอนที่ซื้อ แต่เขาได้ซ่อมแซมมันเพราะไม่อยากถวายดาบในสภาพนั้นให้กับองค์จักรพรรดิ รูป [ข้างล่าง] แสดงภาพวาดใบดาบ เครื่องทรงและส่วนประกอบโดยมุเนชิเงะ

s__33751307

[รูปวาดของมุเนชิเงะ] มาจากหนังสือ “ชูโคจูชู” แคตตาลอคของโบราณสิบอย่างรวม 85 เล่ม รวบรวมขึ้นในปีคันเซย์ที่สิบสอง (1800) โดยมัทสึไดระ ซาดาโนบุ (1759-1829) ไดเมียวแห่งชิราคาวะในตอนนั้น ใน “ชูโคจูชู” แสดงภาพเมนุคิในรูปแบบ “ซันโคซึกะ” ด้ามของดาบที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ไม่ใช่อีกาอย่างที่เฮย์เคะโมโนกาตาริได้บอกไว้ว่าเป็นรูปร่างดั้งเดิมของเมนุคิ

เพื่อความสมบูรณ์ [ผู้แต่ง] จึงขอแนะนำ “โคการาสึมารุ” อีกเล่มเอาไว้ท้ายบทด้วย เล่มนี้เป็นดาบที่ถูกส่งต่อกันมาในสายของน้องชาย [ต่างมารดา] ของคิโยโมริ ไทระ โนะ ทสึเนะโมริ (1124-1185) ทสึเนะโมริตายในศึกดันโนอุระ ทิ้งบุตรชายวัยสองปีที่เกิดจากภรรยาน้อยเอาไว้ บุตรผู้นี้ถูกรับไว้ในตระกูลของผู้สำเร็จราชการโฮโจ โทคิมาสะ (1138-1215) ซึ่งได้มอบหมายให้บุตรชายคนโตของตน โยชิโทคิ (1163-1224) เป็นผู้ดูแล ต่อมาโยชิโทคิได้เปลี่ยนมาใช้นามสกุล “เอมะ” และเรื่องเล่าก็เล่าว่า เมื่อมาถึงช่วงพิธีบรรลุนิติภาวะ บุตรของทสึเนะโมริก็ได้ชื่อใหม่ว่า “เอมะ เทรุสึเนะ”

เทรุสึเนะต้องหนีไปจังหวัดฮิดะในกาลต่อมาเพราะถูกให้ร้าย แต่ได้นำโคการาสึมารุไปด้วย ผู้สืบทอดของเทรุสึเนะและทายาทรุ่นที่ 17 คือเอมะ เทรุโมริ (1533-1582) ผู้กลายมาเป็นผู้ติดตามตระกูลทาเคดะ เมื่อโทคุกาวะ อิเอยาสึสั่งให้นักรบของเขา คานาโมริ นางาจิกะ (1528-1608) เข้าโจมตีพวกเอมะในปีเทนโชที่สิบ (1582) นางาจิกะได้โคการาสึมารุกลับมาในฐานะของที่ได้จากชัยในศึก ด้วยเป็นผู้ติดตามที่ดี เขาพยายามมอบมันให้กับอิเอยาสึ แต่อิเอยาสึปฏิเสธและกล่าวว่า “ดาบนี้เกี่ยวพันกับตระกูลไทระ มันไม่มีประโยชน์อันใดกับบุรุษเช่นข้าผู้เป็นทายาทแห่งมินาโมโตะ” มันจึงถูกมอบให้กับวัดโคคุบุนจิในทาคายามะในฮิดะ ที่ซึ่งมันถูกเก็บรักษามาจวบจนทุกวันนี้ ดาบเล่มนี้เป็นสมบัติทางวัฒนธรรม ความยาวใบดาบ 75.7 cm และเป็นดาบที่เชื่อว่าตีโดยมิทสึโยะที่ทำงานในข่วงโชโฮ (1074-1077) ในมิอิเคะ จังหวัดชิโกกุ สันนิษฐานกันว่าชื่อของดาบมาจากส่วนซายะสีดำที่ทำให้นึกถึงชนของอีกา

เรื่องเล่าที่น่าสนใจอีกฉบับหนึ่งอธิบายว่า โคการาสึมารุ เล่มที่ตอนนี้เป็นสมบัติจักรพรรดิ มาอยู่กับอิเสะ ซาดาทาเคะได้อย่างไร ตามเรื่องเล่าฉบับนี้ เทรุโมริถูกฆ่าโดยอุชิมารุ จิกามาสะบริพารของคานาโมริ นางาจิกะ จิกามาสะเสนอดาบให้โคคุบุนจิในฮิดะที่ขายดาบในเวลาต่อมาให้กับคนมีสตางค์จากโทยามะในจังหวัดเอ็ทจู แต่ในปีเคย์โจที่เจ็ด (1602) ดาบถูกซื้อไปโดยคนจากฮิดะที่เอามันกลับไปที่โคคุบุนจิ พระหัวการค้าเห็นโอกาสและพยายามเปลี่ยนดาบนี้ให้เป็นเงินในเมืองหลวงเอโดะ แต่กลับถูกโกงโดยคู่ค้าที่ติดต่อผ่านตัวแทนที่ทำให้พระต้องเสียดาบและได้เงินเพียงเล็กน้อย หลังจากนั้นร่องรอยของดาบโคการาสึมารุก็หายไปจนกระทั่งอิเสะ ซาดาทาเคะพบมันที่ร้านขายของโบราณในเวลาร้อยกว่าปีต่อมา แต่เรื่องฉบับนี้ไม่ได้อธิบายว่าเหตุใดจึงยังมีดาบโคการาสึมารุเก็บรักษาเอาไว้ที่โคคุบุนจิ และอาจจะเป็นเรื่องที่เอาเรื่องเล่าปากต่อปากหลายๆเรื่องมาปนกัน

ซ้าย – ดาบ “โคการาสึมารุ” ที่โคคุบุนจิ
ขวา – ดาบ “โคการาสึมารุ” ในคลังสมบัติจักรพรรดิ

[1] ตำนานเฮย์เคะเป็นเรื่องการต่อสู้ระหว่างตระกูลไทระกับมินาโมโตะเพื่อปกครองญี่ปุ่นในช่วยศตวรรษที่ 12 เรื่องนี้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในวรรณคดีคลาสสิกของญี่ปุ่นยุคโบราณ
[2] ดาบนี้เคยตัด 3 ซุน (~9 มม.) จากคู่แข่งคือ มาคุระกามิ มาก่อน
[3] เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับลำดับเหตุการณ์กบฏเฮย์จิในปี 1159-1160
[4] ความหมายของคำนี้มาจากคำว่า “ชิรุชิ” ที่หมายถึง สัญลักษ์ เครื่องหมาย ตรา หรือในบริบทกว้างๆอาจหมายถึง หลักฐาน
[5] ทฤษฎีที่ว่าโคการาสึมารุและโคการาชิเป็นดาบเล่มเดียวกันถูกพบใน [แหล่งข้อมูล เช่น] “โนอามิฮงเมย์สึคุชิ” แต่ไม่ใช่ในเล่มดั้งเดิมของโนอามิชินโน (1397-1471) แต่ในเล่มที่ได้รับการปรับปรุงทีหลัง
[6] มีดาบเล่มอื่นที่ถูกเรียกว่า คะระซะบิ เช่น สุซาโนะโอะโนะมิโคโคะ พบดาบอะเมะ โนะ มุราคุโมะ โนะ ทสึรุกิ อันลือชื่อในหางของงูยักษ์ที่เขาฆ่า ซึ่งดาบได้รับชื่อเล่นว่า โอโรจิ โนะ คะระซะบิ แปลว่า ดาบเกาหลีของงูยักษ์
[7] รูปวาดของโฮนามิถูกตีพิมพ์ครั้งแรกในปีที่แปดของเคย์โจ (1603) ใน “ฮงอามิ โคเอ็ทสึ โอชิกาตะ” เล่ม “ทสึกุฮิระ โอชิกาตะ” จากปี 1928 เป็นการรวมรูปดาบมีค่าของโทคุคาวะ ฮิเดทาดะ (1579-1632) ที่วาดโดยนายช่างเอโดะ โอมิ โนะ คามิ ทสึกุฮิระ ในช่วงเก็นโรคุ (1688-1704)
[8] เห็นได้ชัดว่าโคเอ็ทสึสามารถอ่านได้แค่กรอบอักษรรอบนอกของอักษร “คุนิ”

หมายเหตุ: *ในบทแปลประวัติของฮิเงะคิริกับฮิสะมารุ มีผู้ให้ข้อมูลว่าแหล่งข้อมูลทางญี่ปุ่นไม่ตรงกับที่เขียนไว้ในหนังสือ ผู้แปลจึงขอหมายเหตุเอาไว้ตรงนี้ เพื่อให้ผู้อ่านได้นำข้อมูลไปใช้ในการพิจารณาค่ะ
**มีเพื่อนที่รู้ภาษาญี่ปุ่นท้วงว่าจริงๆคำนี้อ่านว่า อะคิระมามิ ไม่ใช่ อะคะระซะมิ ค่ะ
***ขอแก้ชื่อ โฮนามิ เป็น ฮงอามิ นะคะ ประวัติของตระกูลนี้สามารถอ่านได้ที่ privatter ของคุณ chibitare ค่ะ (ขอบคุณที่ช่วยแก้ไขนะคะ <3)

อนึ่ง บทแปลที่เราแปลลงในบลอกเป็นการแปลข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงไว้เท่านั้น หากมีความผิดพลาดเกี่ยวกับการแปลประการใด ผู้อ่านสามารถเข้ามาท้วงติงได้ทุกเมื่อนะคะ ส่วนเรื่องข้อมูลที่ไม่ตรงกัน เราไม่สามารถแก้ไขบทความต้นทางได้ เนื่องจากต้องการคงเนื้อหาต้นฉบับเอาไว้ให้สมบูรณ์ที่สุด หากผู้อ่านมีข้อมูลอื่นที่ไม่ตรงกันหรือต้องการเสริม สามารถคอมเมนต์บอก หรือติดต่อเราทางทวิตเตอร์ @hiyuura ได้นะคะ (แต่รบกวนขอให้มีแหล่งอ้างอิงด้วยก็ดีนะคะ TTvTT) เราจะทำหมายเหตุท้ายบทแปลเอาไว้ให้ค่ะ

Part 2: เพิ่มเติมประวัติจากแหล่งข้อมูลหนังสือภาษาญี่ปุ่น แปลโดย @taiki_taiki 

โคะการาสึมารุ

  • ปรากฏในช่วงปลายศตวรรษที่ 10 ยุคเฮอัน/ สำนักเด็นอะมะคุนิ/ ผู้ถือครอง: ไทระ โนะ ซะดะโมริ ไทระ โนะ สึเนะโมริ/ ความยาว: 62.7 cm/ ปัจจุบันอยู่ที่สำนักพระราชวัง

เมื่อจักรพรรดิคัมมุเสด็จไปประกอบพิธีบวงสรวงที่ตำหนักใต้ ยาตะการาสึซึ่งได้ชื่อว่าเป็นข้ารับใช้ศาลเจ้าอิเสะก็ร่อนลงมาจากท้องฟ้า และทิ้งดาบไว้หนึ่งเล่ม ต่อมาดาบเล่มนั้นได้ชื่อว่า “โคะการาสึมารุ” และกลายเป็นดาบประจำตระกูลจักรพรรดิ ทว่า หลังจากนั้นก็ได้กลายเป็นดาบสมบัติตระกูลไทระ ซึ่งเชื่อว่าได้จมหายสาบสูญไปพร้อมกับตระกูลไทระหลังพ่ายศึกที่ช่องแคบดันโนะอุระ (แพ้ตระกูลมินาโมโตะ(เก็นจิ) ซึ่งภายหลังกลายเป็นโชกุนตระกูลแรก) ภายหลังพบว่ามีดาบชื่อเดียวกันถูกเก็บรักษาไว้ที่ตระกูลอิเสะ หลังการปฏิรูปเมจิ (เปลี่ยนการปกครองยกเลิกระบบโชกุนและหันกลับมาเชิดชูจักรพรรดิ) โคะการาสึมารุก็ได้ถูกนำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่จักรพรรดิเมจิ ปัจจุบันจึงถูกเก็บรักษาไว้ยังสำนักพระราชวัง กล่าวกันว่าโคะการาสึมารุเป็นฝีมือของช่างเอกในตำนานนาม อะมะคุนิ ทว่า ที่ตัวดาบกลับไม่มีลายเซ็นสลักเอาไว้

จาก 物語で読む日本の刀剣150 หน้า 83

โคะการาสึมารุ

  • ถูกสร้างขึ้นในช่วงกลางยุคเฮอัน/ ความยาว: 62.7 cm/ นายช่าง: อะมะคุนิ/ เจ้าของ: จักรพรรดิคัมมุ/ ปัจจุบันเป็นราชสมบัติ

ค.ศ.794 ปีเอ็นเรียคุที่ 13 จักรพรรดิคัมมุเสด็จยังเฮอันเกียว

ช่วงค.ศ.930 ราวๆปีโจเฮ จักรพรรดิสึซาคุพระราชทานโคะการาสึมารุแก่ไทระ โนะ ซะดะโมริ

ค.ศ.1185 ปีเก็นเรียคุที่ 2 หายสาบสูญไปในสงครามยุทธนาวีดันโนะอุระ

ค.ศ. 1882 ปีเมจิที่ 15 ถูกนำทูลเกล้าถวายแด่องค์จักรพรรดิเมจิ

โคะการาสึมารุได้ชื่อว่าเป็นดาบจากผลงานของช่างเอกในตำนาน อะมะคุนิ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วงยุคนาราจนถึงเฮอันตอนกลาง ซึ่งในยุคนั้นนิยมตีดาบที่มีลักษณะเป็นดาบตรง ทว่า โคะการาสึมารุมีความแตกต่างจากดาบเล่มอื่นๆในยุคนั้นตรงที่ส่วนใบดาบที่มีลักษณะโค้ง และปลายดาบมีลักษณะเป็นแบบสองคม ที่มาของโคะการาสึมารุถูกกล่าวถึงไว้หลากหลายมาก อย่างไรก็ตาม หากกล่าวถึงตำนานที่เป็นที่รู้จักกันดีแล้วก็คือตำนานข้ารับใช้เทพเจ้า

ครั้งหนึ่ง เมื่อจักรพรรดิคัมมุเสด็จพระราชดำเนินมายังตำหนักใต้ ได้มียาตะการาสึบินมาเยือน กาตนนั้นกล่าวว่า “ข้าคือข้ารับใช้แห่งศาลเจ้าใหญ่อิเสะ” และทิ้งดาบไว้หนึ่งเล่มก่อนบินจากไป ยาตะการาสึถือเป็นร่างจำแลงของเทพ เห็นดังนั้น จักรพรรดิคัมมุจึงเก็บดาบเล่มนั้นแล้วพระราชทานนามว่า “โคะการาสึมารุ” ก่อนเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติประจำตระกูล

แม้จะถูกเก็บรักษาไว้อย่างดีในฐานะดาบป้องกันองค์จักรพรรดิ แต่ก็ถูกพระราชทานแก่ตระกูลไทระ และจนหายไปในทะเลหลังศึกยุทธนาวีดันโนะอุระ ทว่าภายหลัง ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกเก็บรักษาไว้ที่ตระกูลอิเสะซึ่งสืบสายมาจากตระกูลไทระ หลังการปฎิรูปเมจิ ซึ่งอดีตไดเมียวแคว้นสึชิมะนามมุเนะอุจิ ได้นำขึ้นกราบทูลถวายแต่องค์จักรพรรดิเมจิ ปัจจุบันจึงกลายเป็นสมบัติของพระจักรพรรดิ

จาก 図解刀剣人物伝 หน้า 32

โคะการาสึมารุกับไทระ โนะ ซะดะโมริ

-สมบัติประจำตระกูลไทระซึ่งมาจากอีกาเทพ-

ช่วงปลายยุคเฮอัน ไทระ โนะ คิโยโมริ ซึ่งเป็นนักรบได้ก้าวสู่ตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีเป็นคนแรก ตระกูลไทระ(เฮเคะ)รุ่งเรืองถึงขีดสุดกระทั่งมีบทกลอนกล่าวขานว่า “平氏にあらずんば人にあらず” (มีความหมายในเชิงเปรียบเทียบว่า “ใครไม่ใช่ไทระมันผู้นั้นไม่ใช่คน” ต้องการสื่อว่าตระกูลเก็นจิ(มินาโมโตะ)มีค่าต่ำกว่ามนุษย์ (ไทระ โนะ คิโยโมริเรืองอำนาจเป็นช่วงหลังจากตระกูลเก็นจิแพ้สงครามและตระกูลเกือบถึงกาลล่มสลาย และลูกหลานในตระกูลที่เหลืออยู่ถูกเลี้ยงแยกกันตามสถานที่ต่างๆในฐานะตัวประกัน เพื่อมิให้กลับมารวมตัวกันต่อสู้ชิงอำนาจกับตระกูลไทระอีก (มารดาของไทระคิโยโมริได้ขอไว้ เด็กๆจึงรอดตาย))) ซึ่งดาบสมบัติเล่มหนึ่งของตระกูลไทระได้แก่ “โคะการาสึมารุ”

โคะการาสึมารุเป็นดาบที่มีความยาวประมาณ 62.7 cm ถูกสร้างขึ้นในช่วงปีเท็นเกียว (ค.ศ. 938-947) ในเรื่องของผู้สร้างมีตำนานกล่าวถึงมากมาย ทว่าที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดได้แก่ตำนานที่ว่าเป็นผลงานสร้างโดยช่างเอกอะมะคุนิแห่งอาณาจักรยามาโตะ ตัวดาบมีความโค้งเล็กน้อย เป็นที่น่าสังเกตว่าในช่วงนั้นถือได้ว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเปลี่ยนความนิยมจากการตีดาบแบบตรงมาสู่ดาบโค้ง

โคะการาสึมารุเล่มนี้มีตำนานเรื่องเล่าถึงต้นกำเนิดอันแสนประหลาด

จักรพรรดิคัมมุ (ครองราชย์ ค.ศ.781-806) เสด็จพระราชดำเนินมายังตำหนักใต้แห่งเฮอันเกียว กายักษ์สามขาได้บินลงมาจากท้องฟ้า “ตัวข้ามาในฐานะข้ารับใช้แห่งศาลเจ้าใหญ่อิเสะ” จากนั้นดาบเล่มใหญ่ก็ร่วงลงมาจากใต้ปีก แล้วกาตัวนั้นจึงบินจากไป ตอนนั้นเอง จักรพรรดิคัมมุจึงพระราชทานนามแก่ดาบเล่มนั้นว่า “โคะการาสึมารุ”

เส้นทางแห่งความรุ่งเรืองของตระกูลไทระ

โคะการาสึมารุเป็นดาบสมบัติประจำตระกูลไทระที่ได้รับพระราชทานจากพระจักรพรรดิสึซาคุ หลังจากที่ไทระ โนะ ซะดะโมริได้รับราชโองการให้ปราบกบฏไทระ โนะ มะสะคะโดะนั่นเอง

แม้ว่าตระกูลไทระซึ่งสืบเชื้อสายมาจากจักรพรรดิคัมมุจะแผ่ขยายอำนาจไปทั่วแถบคันโต ทว่า ก็ได้เกิดสงครามแย่งชิงดินแดนเกิดขึ้นภายในตระกูล ในปีโจเฮที่ 5 (ค.ศ. 935) มะสะคะโดะได้สังหารคุนิกะอาของตนหลังทำสงครามแย่งชิงดินแดนอันเป็นมรดกของบิดาตน

คุนิกะเป็นบิดาของซะดะโมริ ดังนั้น ซะดะโมริที่โกรธแค้นจึงเร่งเดินทางกลับแคว้นฮิตาจิ (ปัจจุบันคือส่วนหนึ่งของจังหวัดอิบะระกิ) และในปีโจเฮที่ 6 (ค.ศ.936) จึงร่วมมือกับผู้เป็นอา ได้แก่ โยชิคะเนะ และโยชิมะสะ ยกทัพบุกจู่โจมมะสะคะโดะ ทว่า อาทั้งสองกลับเป็นฝ่ายถูกสังหารเสียเอง

การแผ่ขยายอำนาจของมะสะคะโดะยังคงไม่สิ้นสุด ในปีเท็นเกียวที่ 2 (ค.ศ.939) ก็ได้เข้ายึดศาลาว่าการแคว้นฮิตาจิและเผาทำลายทุกอย่างจนราบ นอกจากนี้ยังทำลายศาลาว่าการแคว้นอุเอะโนะ อีกทั้งยังสถาปนาตนเองเป็นองค์ชาย และได้สร้างพระราชตำหนักขึ้นที่เมืองสะชิมะแคว้นชิโมสะ

ในปีเท็นเกียวที่ 3 (ค.ศ.940) องค์จักรพรรดิสึซาคุได้มีพระราชโองการแต่งตั้งซะดะโมริให้เป็นจ้าวผู้ครองแคว้นฮิตาจิ และมีพระประสงค์ให้ปราบกบฏมะสะคะโดะ จากนั้นจึงพระราชทานโคะการาสึมารุให้แก่ซะดะโมริ

เดือนกุมภาพันธ์ปีเดียวกันนั้นเอง ซะดะโมริได้นำทหารสี่พันคนร่วมกับฟูจิวาระ โนะ ฮิเดซะโตะ ซึ่งเป็นขุนนางจากตระกูลผู้มีอำนาจในท้องถิ่นเข้ารบกับกองทัพของมะสะคะโดะ เมื่อทำลายกองทัพของมะสะคะโดะได้แล้วจึงมุ่งหน้าต่อไปยังฐานที่ตั้งหลักของมะสะคะโดะที่สะชิมะ เมื่อยกทัพไปถึง ซะดะโมริได้เผาทำลายคฤหาสน์ของมะสะคะโดะกับเคหาสน์ของเหล่าบรรดาข้ารับใช้จนราบ วันที่ 14 เดือนกุมภาพันธ์ จึงสามารถปราบกบฏมะสะคะโดะได้สำเร็จ

มีตำนานที่มาของโคะการาสึมารุที่ได้ถูกเล่าขานเอาไว้มากมาย จากเรื่องการปราบกบฏมะสะคะโดะ เล่าว่าระหว่างหลบหนี มะสะคะโดะได้ใช้วิชาแยกร่างเป็นเจ็ดคนจนไม่สามารถแยกออกได้ว่าใครเป็นใคร ซะดะโมริจึงเลือกยกดาบฟันคนที่มีนกตัวหนึ่งร่อนลงมาเกาะบนหมวก แล้วพบว่าคนที่ฟันลงไปนั้นเป็นมะสะคะโดะตัวจริง ดาบเล่มนั้นจึงถูกตั้งชื่อว่าโคะการาสึมารุ

หลังสงคราม ซะดะโมริได้รับยศจูโกะอิโจอุมะโนะสุเกะ และหลังจากนั้นก็ได้รับตำแหน่ง ผู้ครองแคว้นทันบะ ชินจุฟุโชกุน ผู้ครองแคว้นมุทสึ เป็นต้น จนไต่เต้ามาถึงตำแหน่งจูชิอิคะ จนในที่สุดความเรืองอำนาจนี้ก็ถูกสืบทอดต่อไปยังผู้สืบเชื้อสายเช่น ไทระ โนะ คิโยโมริ จนเรียกได้ว่าเป็นยุคเรืองอำนาจของตระกูลไทระ

โคะการาสึมารุถึงถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดเส้นทางแห่งการเรืองอำนาจของตระกูลไทระนั้น ในภายหลังได้กลายเป็นสมบัติประจำตระกูลไทระ จากเหตุการณ์ล่มสลายของตระกูลไทระในสงครามยุทธนาวีดันโนะอุระในปีบุนจิ (ค.ศ.1185) โคะการาสึมารุได้จมหายไปในทะเลพร้อมกับดาบคุสะนะงิ (ดาบประจำตระกูลจักรพรรดิ หนึ่งในสมบัติวิเศษสามอย่าง) แล้วไม่พบร่องรอยของดาบอีกเลยหลังจากนั้น ทว่า ในช่วงยุคเอโดะ พบว่าได้ตกไปอยู่ในตระกูลอิเสะ หลังจากการปฏิรูปเมจิ จึงถูกนำขึ้นทูลเกล้าถวายแด่องค์จักรพรรดิเมจิ

เมื่อพิจารณาจากผ้าไหมที่ประดับอยู่บนฝักดาบแล้วคาดว่าฝักดาบน่าจะถูกสร้างขึ้นในยุคเอโดะ

จาก 日本刀と武士 その知られざる驚きの刃生 หน้า 54-56

Leave a comment