[แปล] Touken Ranbu – ประวัติดาบ: Ookurikara

แปลจาก: http://tourandanshi.tumblr.com/post/128521092218/ookurikara

“…ข้าคือโอคุริคาระ เป็นผลงานของฮิโรมิทสึแห่งสำนักโซชู นายเดิมของข้าคือดาเตะ มาซามุเนะ นามของข้ามาจากมังกรคุริคาระที่สลักบนใบดาบของข้า …นอกจากนั้นก็ไม่มีเรื่องอื่นที่ข้าจะพูด ยังไงซะ ข้าก็เป็นแค่มุเมโต” 

โอคุริคาระถูกตีขึ้นโดยฮิโคชิโร่ ฮิโรมิทสึจากสำนักโซชู ประมาณปี 1350

ดาบถูกส่งมอบโดยฮิเดทาดะ โชกุนคนที่สองให้กับบ้านดาเตะ และถูกนำไปจากบ้านดังกล่าวหลังช่วงยุคสงคราม ปัจจุบันเป็นของสะสมส่วนบุคคล

ตามบันทึกโทคุกาวะ วันที่ 21 ของดวงจันทร์ที่ 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ปีที่ 6 ในยุคเก็นวะ (1620) ดาบเล่มนี้ถูกมอบให้กับดาเตะ ทาดามุเนะ (บุตรชายคนที่สองของไดเมียวผู้มีโด่งดังและมีอำนาจ ดาเตะ มาซามุเนะ) โดยโทคุกาวะ ฮิเดทาดะเป็นรางวัลสำหรับการสร้างกำแพงหินรอบปราสาทเอโดะแล้วเสร็จ ในเอกสารดาเตะ จิเคะ คิโรคุ (เอกสารของตระกูลดาเตะ) เองก็มีบันทึกเรื่องราวที่ตรงกัน

ในเอกสารลับเค็นโซ การมอบดาบเล่มนี้เกิดขึ้นระหว่างเดือน 10 ตามปฏทินจันทรคติ เจ้าของเดิมก่อนฮิเดทาดะไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด

มุมมองหลักๆ (ผู้แปล: หมายถึงในเกม) นั้นโอคุริคาระ รวมทั้งทสึรุมารุ* คุนินากะและโชคุไดคิริ มิทสึทาดะเป็นดาบที่มีชื่อเสียงสามเล่มของดาเตะ มาซามุเนะ ทว่าโอคุริคาระไม่อาจถูกเรียกได้อย่างเต็มปากว่าเป็นดาบของดาเตะ มาซามุเนะ จากบันทึกหลักฐานแล้ว ดาบดังกล่าว ได้ถูกมอบให้กับทาดามุเนะ บุตรของดาเตะ มาซามุเนะต่างหาก

อย่างไรก็ดี มีทฤษฎีที่อ้างว่าการสร้างกำแพงหินทำในนามของมาซามุเนะ และทาดามุเนะเป็นเพียงตัวแทนรับดาบของมาซามุเนะเท่านั้น

โอคุริคาระ แต่เดิมในเกมเป็นทาจิ จนกระทั่งวันที่ 22 ก.ค. 2558 ถูกเปลี่ยนเป็นอุจิกาตานะที่มีความหายากระดับกลาง (เช่นเดียวกับอิซึมิโนะคามิ คาเนะซาดะและโดดานูกิ มาซาคุนิ) แม้ว่าความยาวของโอคุริคาระจะยังคงเป็น 67.6 cm เท่าเดิมก็ตาม ปัจจุบันดาบเล่มจริงถูกเก็บรักษาไว้ที่เมืองอิบาราคิในโอซาก้า

ตอนที่แนะนำตัว โอคุริคาระบอกว่าคนเป็นมุเมโต (無銘刀) ซึ่งคือดาบที่ไม่มีลายเซ็นของช่างตี ซึ่งรอยจารึกนี้เป็นสัญลักษณ์บ่งบอกถึงคุณภาพและความภาคภูมิใจของช่างที่จะให้เจ้าของดาบสืบสาวกลับไปถึงตนเองได้

นิสัยใจคอโดยรวมของโอคุริคาระเย็นชามาก และมักถูกเปรียบเปรยกับแมวจากนิสัยที่ว่า “ข้าจะทำอย่างที่ข้าต้องการ” (“…ข้าคือโอคุริคาระ ข้าไม่มีอะไรอื่นจะพูด ข้าไม่คิดจะเป็นมิตรกับเจ้า” “ถ้าไม่มีอะไรแล้ว ก็ให้ข้าอยู่คนเดียวสักที” “ข้าไม่คิดจะสนิทสนมกับเจ้า” “ข้าจะไม่รวมกลุ่มกับพวกเจ้า” “ข้าจะใช้สิ่งนี้ตามที่ข้าพอใจ”) เขาไม่สนใจจะมีมิตรใหม่ หรือใช้เวลากับคนอื่นๆ แม้ว่าเจ้าตัวจะเป็นมิตรที่ดีกับโชคุไดคิริ มิทสึทาดะ (“พวกหน้าใหม่รึ ข้าไม่สนใจหรอก”)

นิสัยโดยรวมของเขาที่ว่า “ข้าจะสู้เพียงลำพังและตายเพียงลำพัง” อาจมาจากที่เขาเป็นดาบมุเมโต ดังนั้นเขาจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นของใคร เช่นนั้นแล้วเขาจึงไม่รู้สึกว่าตัวเองต้องฟังคำสั่งจากใครทั้งสิ้น เหมือนกับความหมกมุ่นในความงามของคะชูและการย้ำว่าตนไม่ใช่ของปลอมแม้จะเป็นของเลียนแบบของยามัมบะ โอคุริคาระรู้สึกว่าเขาจำเป็นต้องแสดงให้เห็นว่าเขาสามารถต่อสู้เพียงคนเดียวได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเจ้านาย และหากจำเป็น เขาจะตายเพียงลำพังโดยไม่ต้องให้มีการเสียสละชีวิตอื่น

ความจริงแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติเช่นเดียวกับดาบหลายๆเล่ม โอคุริคาระไม่เคยเรียกซานิวะเป็นนาย หรือแม้แต่แสดงอากัปกิริยาว่าตนอยู่ใต้บังคับบัญชา เขายังพูดด้วยว่า “ข้าไม่ต้องการคำสั่งของเจ้า”

โอคุริคาระยังบอกอีกด้วยว่านามของเขามาจากรูปสลักมังกรอันวิจิตรบนตัวดาบอันเป็นรูปของมังกรดำคุริคาระที่บันดาลเปลวเพลิงขดวนรอบดาบของฟุโด เมียวโอซึ่งใช้ชำระล้างพิษร้ายสามประการในทางโลกอันได้แก่ ความไม่รู้ ความยึดติด และความเกลียดชัง ท่ีเป็นที่รู้จักกันดีตามหลักศาสนาพุทธนิกายชินงอน รูปสลักดังกล่าวมักไม่ใช้กับดาบเพื่อไม่ให้ดาบอ่อนพลังลง หากแต่ว่ากันว่า โอคุริคาระเคยมีรอยแผลมาก่อน และรอยสักดังกล่าวก็ใช้สำหรับปกปิดรอยดังกล่าว

*ตามประวัติศาสตร์แล้ว ทสึรุมารุเองก็มาอยู่ที่ตระกูลดาเตะหลังจากสมัยของดาเตะ มาซามุเนะเช่นกัน (ดูเพิ่มเติมได้จากหน้าประวัติ Tsurumaru Kuninaga)

ในรูป: โอคุริคาระและลายสลักมังกร

Sword-Ookurikara1.3

Leave a comment